ผ้าขาวม้าทอมือ คุณค่าและภูมิปัญญาจากชุมชน
นับจากอดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ผ้าขาวม้าเป็นผ้าที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในทั่วทุกภาคของประเทศ ควบคู่กับวัฒนธรรมการทอผ้าซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทย มีการทอผ้าขาวม้าใช้เองในครัวเรือน แลกเปลี่ยนกันในหมู่บ้าน มอบให้แก่ผู้ใหญ่ และใช้ในงานพิธีกรรมต่างๆ ผ้าขาวม้าเป็นผ้าที่เข้าถึงง่ายด้วยประโยชน์ใช้สอยมากมายจนครองตําแหน่ง“ผ้าสารพัดประโยชน์” ที่ไม่มีผ้าประเภทใดเทียบได้ ผ้าขาวม้าจึงอยู่คู่กับคนไทยมาทุกยุคทุกสมัยและแนบแน่นอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะในสังคมชนบทและสังคมเกษตรกรรมเรามักนึกถึงภาพผู้ชายใช้ผ้าขาวม้าในการพาดบ่า เคียนเอว เช็ดเหงื่อ ส่วนแม่บ้านใช้ผ้าขาวม้าในการผูกเป็นเปลนอนให้เด็กทารก เป็นผ้าบังเมื่อให้นมลูก เป็นผ้าม่านกันแดด เป็นต้น
ในวันนี้เราอยากให้คนไทยหันกลับมามองผ้าขาวม้าด้วยมุมมองใหม่ที่ต่างไปจากเดิมไม่ว่าจะเป็นความลึกซึ้งด้านวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่ส่งผลให้ผ้าขาวม้าในแต่ละพื้นที่มีโครงสร้าง ลวดลายและสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง หรือกระบวนการทอผ้าด้วยมือที่ต้องใช้ความพิถีพิถัน ความเชี่ยวชาญ และสมาธิตลอดจนการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้ผลิตและผู้ใช้ รวมถึงมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย สนับสนุนรายได้ให้เข้าสู่ชุมชน