“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ดีอย่างไร ทำไมถึงควรทำ?

“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ดีอย่างไร ทำไมถึงควรทำ?

สำหรับมนุษย์เงินเดือนหรือคนทำงานแล้ว “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” นับว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำร่วมกับบริษัทหรือนายจ้างได้ เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการลงทุนที่มอบผลประโยชน์ให้เราเมื่อถึงเวลาเกษียณ ซึ่งจะมีในบางบริษัทที่เข้าร่วมโครงการนี้

แต่เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้น สำหรับใครที่ยังมีข้อข้องใจ อยากทราบว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืออะไร มอบประโยชน์อะไรให้กับลูกจ้าง และหากมีแล้วเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้คืนตอนไหน รวมทั้งถ้าบริษัทไม่ได้เข้าร่วมโครงการ เราจะวางแผนเองอย่างไรได้บ้าง ไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันได้เลย

ไขข้อข้องใจ ‘กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ’ คืออะไร?

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident fund) หรือ เรียกย่อ ๆ ว่า PVD คือ กองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ลูกจ้างหรือพนักงานในยามเกษียณอายุ โดยที่ลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นโดยสมัครใจ ซึ่งเงินของกองทุนจะมาจากการนำส่งเข้าเป็นประจำทุกเดือน จากทั้งฝั่งของลูกจ้างและฝั่งของนายจ้าง โดยเงินส่วนหนึ่งที่ลูกจ้างต้องนำส่ง ในที่นี้จะเรียกว่า "เงินสะสม" และเงินอีกส่วนหนึ่งที่นายจ้างนำส่ง จะเรียกว่า "เงินสมทบ" ซึ่งเงินสะสมที่เราต้องนำส่งนั้น เราสามารถเลือกออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้เอง ที่อัตรา 2% - 15% ของรายได้ และนายจ้างก็จะสมทบให้ที่ 2% - 15% เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละนโยบายของบริษัท แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ขั้นต่ำประมาณ 2% - 5% และเมื่อทั้งเราและนายจ้างนำส่งเงินเข้ากองทุนแล้ว กองทุนจะมีการบริหารจัดการเงินทั้งสองส่วนนี้ให้งอกเงยขึ้น

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพดีอย่างไร ทำไมถึงควรเข้าร่วม?

แม้จะทราบถึงข้อดีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบางส่วนแล้ว แต่ไม่เพียงเท่านั้น เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังมีข้อดีอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น

  • เงินที่นำส่งและผลประโยชน์ทั้งหมดเป็นของลูกจ้าง
    แม้บริษัทจะเลิกกิจการ ลูกจ้างลาออก หรือเปลี่ยนงาน แต่ทั้งนี้เงินกองทุนและผลประโยชน์ที่จะได้รับจะเป็นไปตามระยะเวลาของการเข้าร่วมและเงื่อนไขของกองทุน
  • ไม่จำเป็นต้องเงินเดือนสูง ก็สามารถลงทุนได้
    เพราะลูกจ้างเลือกเองได้ว่าจะนำส่งเงินกี่เปอร์เซ็นต์จากรายได้ตามที่บอกไป แถมยังมีเงินจากนายจ้างมาสมทบเพิ่มอีก
  • ช่วยให้ออมเงินได้สม่ำเสมอ
    เนื่องจากเป็นการลงทุนในจำนวนเงินเท่ากันทุกเดือน มีความเสี่ยงน้อย จึงเป็นการลงทุนที่ได้เปรียบ
  • มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า
    เพราะเงินในกองทุนจะถูกนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ โดยผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ นอกจากนั้นยังปลอดภัย เพราะได้รับการดูแลจากหน่วยงานกำกับดูแลและมีกฎหมายรองรับ
  • เป็นเสมือนหลักประกันรายได้และการออมระยะยาว
    ทำให้เรามีเงินใช้หลังวัยเกษียณอย่างมั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ประโยชน์กับใครบ้าง?

แน่นอนว่าไม่เพียงแค่พนักงานหรือลูกจ้างเท่านั้น ที่ได้รับประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังมีประโยชน์กับฝ่ายอื่น ๆ ด้วย นั่นก็คือ

  • นายจ้าง บริษัท หรือสถานประกอบการ
    • เป็นสวัสดิการที่ดี ช่วยเพิ่มโอกาสในการได้พนักงานใหม่ที่มีความสามารถ และยังสามารถรักษาพนักงานที่มีคุณภาพไว้กับองค์กร
    • ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากเงินสมทบที่จ่ายเข้ากองทุน
  • องค์กรภาครัฐ
    • เป็นนโยบายส่งเสริมการออมระยะยาวและสร้างหลักประกันให้ประชาชน
    • เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการระดมเงินออมระยะยาวมาลงทุน
    • ช่วยรักษาเสถียรภาพทางสังคม เมื่อประชาชนมีหลักประกันยามแก่เฒ่า

ประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับจากการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

อย่างที่บอกไปว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ลูกจ้างหรือพนักงานในยามเกษียณอายุ ดังนั้นหากพูดถึงประโยชน์ที่เราจะได้รับให้เข้าใจง่าย ๆ สามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ ดังนี้

  1. มีเงินก้อนไว้ใช้ยามเกษียณอายุ เป็นหลักประกันความมั่นคงในอนาคต
    นั่นคือ เมื่อเกษียณแล้ว เราจะมีเงินจากกองทุนไว้ใช้เมื่อไม่มีรายได้จากการทำงาน ซึ่งช่วยสร้างหลักประกันยามชราภาพ ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงบั้นปลาย
  2. นำไปหักลดหย่อนภาษีได้
    เงินที่ออมไว้ในกองทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง ตามเงื่อนไขของกฎหมาย จึงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้มาก
  3. มีเงินสำรองสำหรับใช้ยามฉุกเฉินหรือลงทุนต่อ
    เมื่อพนักงานพ้นสภาพการเป็นพนักงาน จะสามารถรับเงินออมพร้อมดอกผลจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ทำให้มีเงินเพียงพอในการใช้จ่ายขณะว่างงานหรือนำไปต่อยอด
  4. ช่วยสร้างวินัยทางการเงิน
    เพราะเป็นการออมแบบบังคับ เนื่องจากเงินสะสมจะถูกหักจากเงินเดือนโดยอัตโนมัติ จึงเป็นการสร้างวินัยทางการเงินสำหรับไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ

เงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้คืนตอนไหน?

ตามปกติแล้วการรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างหรือพนักงานผู้เป็นสมาชิกจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของเงินทั้งก้อน และจะได้รับเงินจากกองทุน เมื่อออกจากงานตอนอายุครบ 55 ปี และเป็นสมาชิกของกองทุนมาแล้ว 5 ปี

แต่อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขการรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมในกรณีอื่น ๆ เช่น การออกจากงานก่อนอายุครบตามกำหนด ออกจากกองทุนก่อนเวลา และกรณีเสียชีวิต โดยจะแบ่งตามแต่ละกรณีได้ ดังนี้

  • ลาออกจากงานก่อนเกษียณอายุหรือก่อนอายุครบ 55 ปี
    ในส่วนนี้จะได้รับเงินเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการนำเงินออกจากกองทุนตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน ซึ่งส่วนใหญ่นายจ้างมักกำหนดเงื่อนไขการให้เงินเป็นแบบขั้นบันไดตามอายุงานหรืออายุการเป็นสมาชิกกองทุน เช่น เป็นสมาชิกของกองทุนมาน้อยกว่า 3 ปี จะไม่ได้รับเงินสมทบหรือผลประโยชน์จากเงินสมทบเลย หรือเป็นสมาชิกมาแล้ว 3 ปี แต่ไม่ถึง 5 ปี ลูกจ้างจะได้รับเงินสมทบหรือผลประโยชน์จากเงินสมทบครึ่งหนึ่ง เป็นต้น

    โดยเงินที่ว่านี้เราสามารถเลือกได้เองว่าจะนำไปทำอย่างไรต่อ ทั้งโอนเงินไปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างรายใหม่ โอนเงินไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (RMF for PVD) คงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเช่นเดิมเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือถอนเงินทั้งหมดออกมาใช้จ่าย

  • ออกจากกองทุนก่อนเวลา
    คล้ายกับการออกจากงานก่อนอายุครบกำหนด หากคุณมีเหตุจำเป็นต้องออกจากการเป็นสมาชิกของกองทุนก่อนเวลา แต่ไม่ได้ออกจากงาน ผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้รับนั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการให้เงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบแบบขั้นบันไดตามอายุงานหรืออายุการเป็นสมาชิกกองทุนเช่นเดียวกัน ดังนั้นเพื่อให้เป็นผลดีในระยะยาว ได้รับเงินและผลประโยชน์ครบถ้วน ก็ควรอยู่เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ครบ 5 ปีไว้จะดีกว่า

  • การเสียชีวิต
    ในกรณีที่ลูกจ้างหรือสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ลาออกจากงานตอนอายุครบ 55 ปี และเป็นสมาชิกกองทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีเสียชีวิต ผู้จัดการกองทุนจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ ที่มีการระบุไว้ในหนังสือผู้รับประโยชน์ ซึ่งจำนวนเงินที่จะได้รับขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะกำหนดให้กองทุนจ่ายเงินทั้งหมดแก่ผู้รับประโยชน์นั้นเอง

“ประกันบำนาญ” อีกหนึ่งเครื่องมือช่วยวางแผนเกษียณ

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า หากบริษัทไหนมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้สำหรับพนักงานนั้นเป็นเรื่องที่ดีมากทีเดียว แต่ถึงแม้ว่านายจ้างจะไม่ได้เข้าร่วมโครงการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คนทำงานหรือมนุษย์เงินเดือนก็ไม่ต้องกังวล เพราะยังมีอีกวิธีในการวางแผนเกษียณอย่างการทำ “ประกันบำนาญ” ที่จะช่วยเพิ่มความมั่นคงให้ในอนาคตได้เช่นเดียวกัน และที่สำคัญ เริ่มทำได้ตั้งแต่ตอนนี้เลย

หากท่านใดสนใจเริ่มต้นศึกษา หรือมีแผนจะทำประกันบำนาญ ที่มอบผลประโยชน์คุ้มค่าระยะยาว กรุงเทพประกันชีวิต (Bangkok Life Assurance) ขอแนะนำ

  • ประกันบำนาญ แฮปปี้ เพนชั่น (มีเงินปันผล) มอบความอุ่นใจ ใช้ชีวิตสบายยามเกษียณ
    • รับเงินบำนาญตั้งแต่อายุ 60-99 ปี การันตีเงินบำนาญถึงอายุ 99 ปี*
    • วางแผนอนาคตตัวเองได้ เลือกระยะเวลาชำระเบี้ยได้เอง 1 ปี (ครั้งเดียวจบ)/5 ปี/10 ปี หรือจนถึงอายุ 60 ปี
    • นำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 300,000 บาท/ปี ตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด
    • มีโอการรับเงินบำนาญเพิ่มพิเศษ**

วางแผนชีวิตตั้งแต่ตอนนี้ มีหลักประกันมั่นคงเวลาเกษียณ

*โปรดทำความเข้าใจในรายละเอียดเงื่อนไข ความคุ้มครอง และข้อยกเว้น ก่อนการตัดสินใจทำประกันภัย ทั้งนี้ เงื่อนไข ความคุ้มครอง และข้อยกเว้นอย่างสมบูรณ์จะระบุในกรมธรรม์

**บริษัทอาจพิจารณาเพิ่มจำนวนเงินเอาประกันภัยเพิ่มพิเศษให้ในช่วงรับเงินบำนาญ โดยจำนวนเงินเอาประกันภัยเพิ่มพิเศษนี้ จะขึ้นอยู่กับเงินปันผล ณ วันครบรอบปีกรมธรรมที่ผู้เอาประกันภัยมีอายุครบ 59 ปี ซึ่งคำนวณมาจากผลตอบแทนจากการลงทุนของสินทรัพย์ของกลุ่มผลิตภัณฑ์แบบมีส่วนร่วมในเงินปันผล ตั้งแต่วันที่สัญญาเริ่มมีผลคุ้มครอง จนถึงวันครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยมีอายุครบ 59 ปี หลังหักด้วยต้นทุนทั้งหมดของกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งบริษัทจะจัดสรรในอัตราร้อยละ 80 ให้แก่ผู้เอาประกันภัย ทั้งนี้ เป็นไปตามเงื่อนไข ข้อกำหนด และวิธีการคำนวณเงินปันผลที่บริษัทพิจารณา ณ วันครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยมีอายุครบ 59 ปี

ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตหรือขอใช้สิทธิเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยก่อนวันครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยมีอายุครบ 59 ปี บริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการไม่พิจารณาเพิ่มจำนวนเงินเอาประกันภัยเพิ่มพิเศษ

อ้างอิง : thaipvd, SET, humansoft