เปลี่ยนชีวิตให้แฮปปี้ ด้วยความพอดี
​#โลกหมุนเร็วจนฉันตามไม่ทันแล้วพี่บัวลอย

 
โลกหมุนไว... แต่ใจพอเพียง ​​
 

ประโยคฮิตในโลกออนไลน์ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ที่เอาไว้อธิบายสิ่งต่างๆ รอบตัวที่เปลี่ยนไปจากเดิมแบบคาดไม่ถึง มีทั้งเรื่องดีและไม่ดี จนอาจจะต้องอุทานในใจว่ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นจริงๆ ด้วยหรอ และถ้าลองมองย้อนกลับไปในช่วงไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา มีหลายสิ่งหลายอย่างรอบตัวเราเปลี่ยนไปโดยอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะพฤติกรรมในการใชัชีวิตที่มีเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง และค่านิยมใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จนส่งผลกระทบในการใช้ชีวิตของเรา ซึ่งนั่นก็ไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับร่างกายเสียเท่าไหร่ แต่ปัญหาเกิดขึ้นกับใจมากกว่า

มนุษย์ยุค 4G ความทันสมัย ที่แลกมาด้วยความทุกข์ใจ

เราพูดกันน้อยลง แต่ก้มหน้ามากขึ้น "วันนี้คนมากกว่า 1,000 ล้านคนใช้ชีวิตอยู่บนโลกโซเชียลมีเดียเป็นหลัก โดยเลือกที่จะสื่อสารกับคนไกลตัวมากกว่าคนใกล้ตัว และสนใจเรื่องราวในสังคมออนไลน์ มากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว"

เราผูกติดกับการอวดจนเกินพอดี "ต้องถ่ายรูปของใช้แบรนด์เนม มือถือเครื่องใหม่ หรือมื้ออาหารสุดหรู เพื่อให้เพื่อนในโลกออนไลน์รับรู้ว่าเรามีชีวิตที่มีความสุข มากกว่าที่จะสนใจความสุขที่อยู่ตรงหน้า"

เราเปรียบเทียบกับคนอื่นโดยไม่จำเป็น เมื่อเห็นคนอื่นมีชีวิตดีๆ ได้ง่ายขึ้นผ่านสื่อต่างๆ จนทำให้บางครั้งรู้สึกว่าตัวเองนั้นล้มเหลวในชีวิต เพราะไม่ได้มีชีวิตเหมือนคนอื่น และเกิดเป็นความทุกข์ตามมา"

เราใช้จ่ายเกินตัวเพื่อให้คนยอมรับ "ยอมเป็นหนี้ธนาคาร หรือบัตรเครดิต ซื้อหรือใช้จ่ายในสิ่งฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตมากนัก เพื่อให้คนในสังคมยอมรับในตัวเรา"

เราต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์ "ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่พูดวิจารณ์ หรือเป็นคนที่ถูกวิจารณ์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในยุคสมัยนี้ ที่มีเครื่องมือและพื้นที่ให้เราใช้คำพูดในแง่ลบเข้าหํ้าหั่นกัน ซึ่งบางถ้อยคำสร้างผลกระทบให้กับจิตใจ และส่งผลร้ายตามมาอีกนับไม่ถ้วน"

อย่างไรก็ตาม นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ที่ทำให้ใจเรากลายเป็น "ทุกข์" กับความทันสมัยที่ถาโถมเข้ามาดั่งคลื่นสึนามิ คำถามแล้วเราจะรับมือกับ สถานการณ์แบบนี้ยังไง คำตอบที่เรากำลังจะบอกก็คือใช้วิธีการเบสิคที่สุดเข้าสู้ยังไงล่ะ!

โลกหมุนไว... แต่ใจพอเพียง

"พอเพียง" คำคุ้นหู..ที่ดีต่อใจเสมอ

พอเพียง คำที่เราได้ยินมานาน ทฤษฎีนี้ถูกคิดค้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 โดย "ปราชญ์แห่ง-แผ่นดิน" หรือ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงชีวิต ที่ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็สามารถนำมาปรับใช้ได้ โดยเฉพาะเรื่องของจิตใจ ที่เป็นฐานรากการสร้างชีวิตที่เป็นสุข เพื่อรับมือกับโลกใบนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 

และการใช้ชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จะต้องมี ความพอดี 5 ประการ คือ

1. ความพอดีด้านเศรษฐกิจ
ต้องมุ่งลดรายจ่ายก่อน ยึดหลักพออยู่พอกิน พอใช้ ไม่ใช้จ่ายเกินฐานะที่หามาได้ และหาเพิ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมหลีกเลี่ยงการก่อหนี้ที่ไม่มีผลตอบแทน

2. ความพอดีด้านเทคโนโลยี
รู้จักใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม อย่าเชื่อเพียงสิ่งที่เห็นบนโลกออนไลน์ทั้งหมด แต่ควรใช้วิจารณญาณไตร่ตรองให้รอบด้าน รวมถึงเลือกเทคโนโลยีที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์จริงๆ สำหรับตัวเองและสังคม

3. ความพอดีด้านสิ่งแวดล้อม
เราต้องเลิกนิสัยการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย เลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์และความยั่งยืนสูงสุด อย่าเป็นแค่นักอนุรักษ์ต้องบริหารจัดการให้เป็น ระวังไม่ให้กิจกรรมกระทบสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น ขยะ นํ้าเน่าเสีย ฯลฯ

4. ความพอดีด้านสังคม
เราดีเพียงคนเดียวยังไม่พอ แต่เราจะต้องมีความสัมพันธ์กับคนอื่น ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน รู้จักสามัคคี มีจิตสาธารณะ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวและชุมชน

5. ความพอดีด้านจิตใจ
ต้องมีจิตใจเข้มแข็ง ไม่หลงใหลไปตามกิเลส ไม่ดูที่คนอื่น แต่ให้ดูที่ตัวเราเอง มีจิตสำนึกที่ดี มองโลกอย่างสร้างสรรค์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และรู้จักประนีประนอมน

ถ้าเราใช้ชีวิตได้ตามหลักความพอดี 5 ประการนี้ ไม่ว่าในอนาคต จะเกิดอะไรขึ้น เทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปไกลเท่าไหร่ แต่มีอย่างหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ “หัวใจ” ของเรา จะมีความสุขในทุกๆ วัน


บทความที่เกี่ยวข้อง