เปิดมุมมอง “วิธีบำบัดทางเลือก” มิติใหม่ของการดูแลสุขภาพจิต
ด้วยสภาพแวดล้อมปัญหาหลาย ๆ เรื่องในโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการงาน การเงิน เศรษฐกิจ รวมไปถึงปัญหาส่วนตัวหรือครอบครัว ล้วนส่งผลกระทบต่อจิตใจไม่ต่างกับคนที่มีปัญหาในเรื่องของสุขภาพร่างกายเท่าใดนัก ดังนั้น การใส่ใจเรื่องของสุขภาพจิต จึงเป็นสิ่งที่หลายคนกำลังให้ความสนใจ ถึงแม้ว่าการออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพร่างกายจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยปรับจิตใจให้ดีขึ้น แต่การบำบัดทางเลือกจะเป็นการบำบัดจิตใจที่ตอบโจทย์ได้มากกว่าและสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุดยิ่งขึ้น
“การบำบัดทางเลือก” (Alternative Therapy) คือ วิธีการบำบัดรักษาสุขภาพที่ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ซึ่งไม่ได้ใช้กันเป็นประจำในการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ถึงอย่างไรก็ตามผู้คนกลับเลือกการบำบัดเช่นนี้กันมากขึ้นจนเกิดเป็นกระแสและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เรียกได้ว่าเป็นทางเลือกใหม่ของคนที่ต้องการบำบัดจิตใจในยุคปัจจุบันไปแล้ว ซึ่งก็มีด้วยกันหลายวิธี เราจะขอยกตัวอย่างวิธีที่ยอดฮิตที่สุด ดังนี้
1. ดนตรีบำบัด
หลายครั้งที่เรามักจะได้ยินว่าดนตรีเปรียบเสมือนภาษากลางที่ช่วยทำหน้าที่สื่อสารถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกของทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนเล่นดนตรี คนแต่งเพลง คนร้อง หรือคนฟัง ทุกคนสามารถเชื่อมโยงกันได้หมดจากดนตรี ซึ่งทางการแพทย์ใช้ดนตรีบำบัดมาเป็นระยะเวลานานแล้ว โดยมีความเชื่อกันว่าดนตรีจะช่วยให้คนฟังผ่อนคลายจากอาการเจ็บป่วย ความกังวลหรือลดความเครียดได้
เคยมีกรณีศึกษาในเรื่องของการฟังดนตรีบำบัดของผู้ป่วยก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัดว่าช่วยลดความเครียดและความกังวลได้ โดยฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียดลดลงมากกว่าการใช้ยาลดความเครียด นอกจากนี้การฟังดนตรียังช่วยลดภาวะซึมเศร้าได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยปรับให้อารมณ์สงบขึ้น ทำให้นอนหลับง่ายขึ้น ช่วยกระตุ้นสมอง ปรับระดับ Cortisol ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียดให้คนฟังรู้สึกผ่อนคลายได้
วิธีการใช้ดนตรีบำบัดเพื่อคลายความเครียด
ปัจจุบันมีการใช้ดนตรีบำบัดโรคทางจิตเวช ยกตัวอย่างพฤติกรรมถดถอยของเด็ก เช่น จากที่ช่วยเหลือตัวเองได้กลายเป็นช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เลิกดูดนิ้วแล้วกลับมาดูดใหม่อีกครั้ง ซึ่งเด็กมักจะแสดงพฤติกรรมเป็นเด็กลงไปกว่าวัย โดยเป็นอาการในลักษณะเรื้อรัง สามารถใช้ดนตรีบำบัดได้ ดังนี้
- เปิดเพลงจังหวะเร้าใจ
- ขยับตัวเข้าจังหวะ
- ใช้ดนตรีแบบเคาะจังหวะ
- ใช้อุปกรณ์เกิดเสียงให้ผู้ป่วยได้เขย่า หรือฟังเพลง
- บอกถึงความรู้สึกที่ได้จากเพลง
- ทำตามนี้ครั้งละ 1-1.30 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง
หากทำได้ตามนี้ ผู้ป่วยจะกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างรวดเร็ว ในชั่วโมงที่ 2 ของการบําบัด ผู้ป่วยที่รู้สึกเหงา เศร้าจะยิ้มแย้มได้หลังจากไม่เคยยิ้มมานานอีกด้วย
2. ศิลปะบำบัด
วิธีการนี้จะใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือหลักในการรักษาอาการเจ็บป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งมุ่งเน้นให้ผู้รับการบำบัดแสดงออกผ่านสื่อศิลปะอย่างสร้างสรรค์ บางแนวทางนำความรู้ด้านจิตวิทยาเข้ามาผสมผสาน บางแนวทางใช้การวิเคราะห์สิ่งที่ปรากฏในภาพของผู้รับการบำบัดร่วมด้วย
แนวทางนี้จะช่วยให้ผู้รับการบำบัดได้สำรวจภายในจิตใจของตัวเอง เปิดเผยตัวตนและสื่อสารผ่านงานศิลปะอย่างอิสระ ช่วยให้ความเครียด ความเศร้า หรือความเจ็บปวดบรรเทาลง เกิดความเข้าใจในอารมณ์ความรู้สึก และเกิดการเติบโตทางความคิด ก่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาภายในตัวเอง
สุนทรียภาพ ความหวัง และพลังในชีวิตของผู้คนเกิดขึ้นได้ด้วยศิลปะ ดังนั้น ศิลปะ นอกจากจะเป็นศาสตร์แห่งศิลป์ ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบำบัด ซึ่งเหมาะกับทุกคนทุกวัยที่ชอบศิลปะ โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางด้านนี้ก็ได้ เพราะการบำบัดไม่ได้คำนึงถึงความสวยงาม แต่เน้นช่วยให้ผู้รับการบำบัดได้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน
ศิลปะบำบัดช่วยคนกลุ่มไหนได้บ้าง
- เด็กและวัยรุ่นที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ สมาธิสั้น ออทิสติก มีปัญหาการเข้าสังคม มีความก้าวร้าว ทะเลาะวิวาท มีปัญหาการควบคุมอารมณ์ มีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล
- ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ผู้ที่เก็บตัว ไม่เข้าสังคม หมดพลังในการดำเนินชีวิต ผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ที่มีอาการเกร็ง ชักกระตุก มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์
3. นวดผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ
การบำบัดอีกหนึ่งวิธีที่เป็นตัวเลือก สำหรับใครหลาย ๆ คน ที่ชอบและมักใช้วิธีนี้อยู่บ่อย ๆ นั่นก็คือ การนวดผ่อนคลายร่างกาย เพราะการนวดนอกจากจะช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย ยังส่งผลต่อจิตใจที่ทำให้รู้สึกเบาสบายผ่อนคลายขึ้นอีกด้วย
การนวดช่วยเรื่องผ่อนคลายร่างกายและจิตใจได้อย่างไร
- ลดความเครียด เนื่องจากร่างกายและจิตใจของคนเรามีความสัมพันธ์กัน ดังนั้น การนวดจะช่วยลดระดับฮอร์โมนความเครียดได้มากกว่าครึ่ง เพราะทุกครั้งที่เราไปนวดผ่อนคลาย กล้ามเนื้อของเราจะลดการตึง และเกร็ง ทำให้จิตใจที่ตึงเครียดของเราผ่อนคลายความเหนื่อยล้า และยังช่วยให้จิตใจของเราปลอดโปร่งอีกด้วย
- เพิ่มประสิทธิภาพระบบไหลเวียนของเลือด เพราะการนวดจะช่วยกระตุ้นให้ระบบเลือดในร่างกายไหลเวียนดีขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการที่ช่วยล้างพิษที่ตกค้างในร่างกาย ช่วยบำรุงสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและปรับสมดุลได้เช่นกัน
- ลดอาการปวดหัว โดยเฉพาะอาการปวดศีรษะจากความเครียด ปกติแล้วจะมีการใช้เทคนิคนวดกดเฉพาะจุดบริเวณศีรษะ ซึ่งจะช่วยให้อาการปวดนั้นเบาลงได้
- ลดอาการซึมเศร้า การนวดด้วยน้ำมันหอมระเหยจะช่วยกระตุ้นความสดชื่น และช่วยปรับอารมณ์ที่โศกเศร้าให้กลับมาเข้มแข็งได้อีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีโรคประจำตัวก็ควรจะระมัดระวัง และดูข้อควรระวังก่อน เพื่อความปลอดภัย
4. สัตว์เลี้ยงบำบัด
มีการศึกษาในต่างประเทศที่พบผลสำเร็จของการใช้บรรดาสัตว์เลี้ยง ช่วยเยียวยารักษาโรคได้ทั้งโรคซึมเศร้า สมองเสื่อม ผู้ป่วยมะเร็ง และผู้ที่มีความเครียดหลังเผชิญกับเหตุการณ์สะเทือนใจหรือที่เรียกว่า PTSD โดยเฉพาะในผู้สูงอายุได้ผลดีมาก
ซึ่งผลการศึกษา Pets Therapy ในผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ ประเมินผลทางจิตใจ พบว่า ในกลุ่มที่ได้รับการบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยงมีค่าคะแนนกลุ่มอาการทางจิตใจ (Psychological Symptoms) ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการบำบัด โดยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีอาการลดลงอย่างชัดเจน ขณะที่ผู้ป่วยโรคจิตเภทได้รับการบำบัดจากสัตว์เลี้ยงสุนัขและแมว 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็มีผลประเมินที่พบว่าอาการและพฤติกรรมทางสังคมดีขึ้นด้วย
นอกจากนี้ยังเคยมีงานวิจัยออกมาเปรียบเทียบอัตราการอยากฆ่าตัวตายของคนที่อยู่คนเดียวกับคนที่เลี้ยงสุนัขหรือแมว ผลปรากฏว่าคนที่เลี้ยงสัตว์มีภาวะเสี่ยงกับโรคซึมเศร้าได้น้อยกว่า เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านั้นจะจดจ่ออยู่กับสัตว์เลี้ยง โดยไม่ได้จดจ่ออยู่กับความทุกข์หรือความเหงาของตัวเองมากเกินไป ผลวิจัยยังพบอีกว่า การลูบคลำสุนัขหรือแมว ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้มีฮอร์โมนความเครียดลดลง และเพิ่มระดับสารเคมีในสมองมากขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิธีการบำบัดทางเลือกที่คุณเองก็เลือกได้ หากต้องการจะผ่อนคลายจากงานที่ทำ หรือมีเรื่องเครียด ๆ ก็สามารถเลือกการบำบัดเช่นนี้เป็นทางเลือกเพื่อเติมเต็มพลังชีวิตและจิตใจให้รู้สึกดีขึ้นได้