“นอนไม่หลับ” ปัญหาหลักของคนเมืองที่กำลังวิกฤต!
ครั้งสุดท้ายที่คุณหลับได้อย่างเต็มอิ่ม...เมื่อไรกันนะ?
อาจเป็นเพราะเศรษฐกิจที่ผันผวน สภาวะการทำงานที่กดดัน รวมถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เร่งรีบที่ทำให้หลายๆ คนเกิดภาวะตึงเครียด จนในที่สุด “โรคนอนไม่หลับ” ก็มาเคาะประตูแบบไม่รู้ตัว เพราะจากสถิติพบว่าร้อยละ 30-40 หรือราวๆ ประมาณ 19 ล้านคนของคนไทยเป็นโรคนอนไม่หลับ วันนี้เราเลยอยากจะชวนทุกคนมาสังเกตพฤติกรรมการนอนของตัวเอง จะได้รู้ว่าตัวเองนอนหลับแบบมีคุณภาพ หรือตกอยู่ในภาวะโรคนอนไม่หลับ จะได้มีวิธีรับมือและคืนความสุขให้กับการนอนเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง พร้อมใช้ชีวิตในเช้าวันต่อไปได้อย่างเต็มที่
สังเกตให้ดีเมื่อไร...ถึงจะเรียกว่านอนไม่หลับ?
โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) เป็นปัญหาที่พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งเป็นโรคที่มีความผิดปกติในวงจรการหลับ หรือการหลับแบบไม่มีคุณภาพ ส่วนอาการที่พบบ่อยจะมีอะไรบ้าง มาดูกัน
- นอนไม่หลับ หรือหลับลำบาก
- หลับไม่สนิท
- ตื่นขึ้นมากลางดึกหรือหลับๆ ตื่นๆ
- ตื่นมาแล้วไม่สดชื่น อ่อนเพลีย
- ไม่มีสมาธิในการทำงาน
- หงุดหงิดง่าย กระสับกระส่าย
นอนไม่หลับ...มีกี่แบบ?
เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันสักนิด โดยปกติแล้วคนเราควรนอนพักผ่อนประมาณ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน สามารถแบ่งได้หลายประเภทตามระยะเวลาของอาการ ดังนี้
อาการนอนไม่หลับชั่วคราว
สาเหตุเกิดจาก ความเครียดแบบฉับพลัน เช่น การเข้านอนโรงพยาบาล เพื่อเตรียมการผ่าตัด การต้องพูดต่อสาธารณะชน การเปลี่ยนตารางเวลานอนในทันที เช่น บินข้ามทวีป
ระยะเวลา จะเป็นติดต่อกันไม่เกินสัปดาห์
อาการนอนไม่หลับระยะสั้น
สาเหตุเกิดจาก ความเครียดในชีวิต ที่เกิดจากความเครียดในครอบครัว การงาน หรือกังวลต่อความเจ็บป่วยทางร่างกายรุนแรง
ระยะเวลา เป็นติดต่อกันนานเป็นสัปดาห์ – เดือน
อาการนอนไม่หลับเรื้อรัง
สาเหตุเกิดจาก ส่วนใหญ่จะเป็นโรคจิตเวช ประมาณ 50% โรคทางการนอนหลับโดยตรง การติดเหล้าหรือสารเสพติด โรคทางร่างกาย เช่น กรดไหลย้อน โรคกระเพาะ โรคหอบหืด หรืออาจเกี่ยวเนื่องจากสาเหตุอื่นๆ
ระยะเวลา เป็นติดต่อกันนานเป็นเดือน-ปี
ปัจจัยอะไร…ที่ทำให้เกิดโรคนอนไม่หลับ
ด้านจิตใจ : ความเครียด ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล
ด้านร่างกาย : เจ็บปวดทางกาย หรือมีโรคประจำตัว เช่น กรดไหลย้อน โรคผื่นภูมิแพ้
ด้านพฤติกรรม : ดื่มคาเฟอีน โคคาโคล่า น้ำอัดลม กระตุ้นให้หัวใจเต้นแรง
ด้านสิ่งแวดล้อม : เสียงรบกวน ห้องนอนสว่าง
อยากนอนหลับให้สนิททำยังไง?
- งดดื่มกาเฟอีนก่อนเวลาเข้านอน
- ผ่อนคลาย เลิกคิดเรื่องวุ่นวายในสมองก่อนเข้านอน
- งดการเล่นอุปกรณ์ไอทีและเครื่องมือสื่อสารบนเตียงนอนและก่อนนอน
- ไม่ควรนอนกลางวันเป็นเวลานานๆ
- จัดสภาพแวดล้อมในการนอนที่ส่งเสริมการนอนหลับพักผ่อน
สุดท้ายนี้... หากพบอาการดังกล่าว สามารถเริ่มต้นรักษาได้โดยการปรับความคิดและพฤติกรรม รวมถึงการใช้ยาเข้าช่วย แต่หากยังคงนอนไม่หลับติดต่อกันมา 2 สัปดาห์ ขอแนะนำให้ควรรีบปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะการนอนหลับในทุกๆ คืนเป็นการพักผ่อนที่ดีและมีคุณภาพ พร้อมทั้งเป็นการสร้างสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข