รู้จักอารมณ์เรา เข้าใจอารมณ์ลูก
พ่อแม่หลายคนมีความตั้งใจที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก โดยเฉพาะในเรื่องการควบคุมอารมณ์ แต่พ่อแม่ก็เป็นมนุษย์ปุถุชน ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีอารมณ์เชิงลบ หลายคนรู้สึกหงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ เวลาลูกมีพฤติกรรมไม่น่ารัก แต่ถ้าเราเข้าใจว่าทำไมคนเราถึงปรี๊ดง่าย เราจะเข้าใจวิธีแก้ไข และช่วยควบคุมใจเพื่อให้เราเป็นพ่อแม่ที่สงบเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีกับลูกได้มากขึ้น
เมื่อสมองเรามองเห็นพฤติกรรมบางอย่างของลูก สิ่งที่เข้ามากระทบใจหลายครั้งมันทำให้เกิด “ความคิดอัตโนมัติ”
“ลูกนี่เอาแต่ใจอีกละ” “ทำไมงอแงแบบนี้” “กำลังอยากเอาชนะพ่อล่ะสิ” “งี่เง่าจริงๆ เลย” ฯลฯ
ความคิดอัตโนมัติเหล่านี้ ทำให้เรามีอารมณ์ โกรธ โมโห อารมณ์เสีย และออกมาเป็นพฤติกรรมปรี๊ดๆ ตะคอกลูก เสียงดัง โวยวายใส่ ขู่ แสดงอำนาจ เป็นการแสดงออกที่เกิดเพื่อปลดปล่อยอารมณ์ และเจ้าความคิดอัตโนมัตินี้หลายทีก็มีที่มา เพราะถ้าสำรวจใจ เรามักพบว่าเรามีความเชื่อหรือมาตรฐานอะไรบางอย่าง “เด็กน่ารักต้องไม่โวยวาย” “เป็นลูกต้องเชื่อฟังพ่อแม่” “เด็กร้องไห้จะนิสัยไม่ดี”
หมอมีคำแนะนำสำหรับพ่อแม่ถ้าอยากจะหยุดโมโหลูกได้ ต้องเริ่มที่“ใจ” ของเราก่อน
1. พยายามปรับเปลี่ยนความคิดอัตโนมัติเมื่อเห็นพฤติกรรมไม่น่ารักของลูก
“ลูกคงกำลังไม่มีความสุข ไม่งั้นคงไม่งอแง” “ลูกเองก็กำลังรู้สึกแย่ และต้องการให้แม่ช่วยเหลือ”
2. ปรับความเชื่อหรือมาตรฐานบางอย่างในใจ
“เด็กๆ สมองยังไม่พัฒนา การโวยวายเป็นเรื่องธรรมดา” “ลูกไม่เชื่อฟังบ้างน่ะดี แปลว่าลูกมีความคิดเป็นของตัวเอง” “เด็กๆ ร้องไห้เป็นเรื่องธรรมดา”
3. ปรับพฤติกรรม
ถ้าใจยังปรับไม่ได้ อย่างไรก็ให้ยั้งพฤติกรรมไว้ก่อน หายใจลึกๆ นับ 1 - 100 เดินแยกออกไปสงบอารมณ์ตัวเองหรือ อาจจะระบายอารมณ์ตีอก แปลงร่างเป็นคิงคองให้เป็นเรื่องตลก เพื่อปลดปล่อยอารมณ์ปรี๊ด
อย่างไรก็ตามเป็นธรรมดาที่จะมีปรู๊ดปรี๊ดกันไปบ้าง ท่องไว้ “คนเราให้อภัยตามปริมาณของความรัก” เป็นความสุขของลูกให้ได้มากๆ เล่นกับลูกเยอะๆ อะไรที่ผิดพลาดไป ลูกจะให้อภัยเราได้ไม่ยาก
ในขณะเดียวกัน เมื่อลูกมีอารมณ์ความรู้สึก สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจ คืออารมณ์ใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้น “เป็นเรื่องธรรมชาติ” พ่อแม่ควรช่วยลูกให้รู้จักอารมณ์ และจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น การจัดการกับอารมณ์ ไม่ได้เกิดจากคำสั่ง “เงียบ” “หยุดเดี๋ยวนี้” “จะร้องทำไม” “ไม่เห็นน่ากลัวเลย” “เรื่องแค่นี้เอง” “เป็นผู้ชายต้องเข้มแข็งนะ” ฯลฯ
1. การช่วยให้ลูกรู้จักอารมณ์ของตนเอง ด้วยคำถาม หรือพูดสะท้อนอารมณ์
“ตอนนี้หนูรู้สึกยังไง” “ดูเหมือนหนูจะกำลังโกรธมาก” “หนูคงเสียใจมากที่พี่เค้ามาหยิบของโดยไม่ขอ”
2. แสดงความเข้าใจทำให้รู้สึกว่าการมีอารมณ์เป็นเรื่องเข้าใจได้
“หนูเสียใจได้นะ ใครๆ ก็เสียใจได้” “เป็นแม่ก็คงรู้สึกโกรธเหมือนกัน”
3. เสนอวิธีที่จะช่วยจัดการอารมณ์และพฤติกรรม
“เวลาโมโห เราไม่ตีคนอื่น หนูมาขีดๆ บนกระดาษนี้แทนมั้ย” “เวลาโกรธแม่ชอบเป่าเจ้าตัวโกรธออกไป” (สอนเรื่องลมหายใจ) “หนูสงบตรงนี้ก่อน แม่นั่งอยู่ตรงนี้ รีบหยุดร้องไห้แล้วมาคุยกับแม่นะ” “แม่กอดอยู่นะ หายเจ็บแล้วเราหยุดร้องกันนะ”
การช่วยให้ลูกรู้จักอารมณ์ และสอนการจัดการอารมณ์ เป็นหน้าที่ของพ่อแม่
แต่การสอนที่ดีที่สุดคือ การสอนด้วยการเป็นตัวอย่างที่ดี
หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน
แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี