รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอด เป็นยอดดี
บ้านเราเคยมีประสบการณ์ พาลูก 4 ขวบไปเดินห้างที่ต่างประเทศ ปกติเราก็พยายามให้ลูกอยู่ในสายตาเสมอ แต่...มันก็มีความผิดพลาดเกิดขึ้น หมอบอกลูกให้เดินไปดูชั้นรองเท้า ที่มองเห็นอยู่ในสายตา แต่พอหันกลับมาอีกที ลูกก็หายตัวไป หมอตะโกนเรียกเท่าไหร่ ก็ไม่มีเสียงตอบใดๆ กลับมา ตอนนั้น... เข้าใจเลยว่าอาการ “ตัวชา” นี่มันเป็นยังไง โชคดีห้างที่เราไปเป็นห้างชั้นเดียว ถึงแม้จะใหญ่แต่ก็มีทางเข้าออกอยู่ทางเดียว พ่อก็รีบวิ่งไปที่ทางออก "ตอนนั้นกลัวอย่างเดียวคือคนมาอุ้มลูกไป" หมอกำลังหาทางไปที่ประชาสัมพันธ์ ทันใดนั้นสามีก็หันไปมองเห็นลูกสาวในชุด Owlets สีแดงตัวจิ๋ว ยืนเกาะโต๊ะ Cashier จ่ายเงิน พอเราเดินเข้าไป เจ้า Owlets ก็เริ่มน้ำตาซึม โผเข้ากอดพ่อแม่ พนักงานบอกว่า “She comes and says, I am looking for my mom, could you please help me?”
เหตุการณ์นี้สอนอะไรหมอหลายอย่าง นอกจากเรื่องการดูแลลูกใกล้ชิด เรายังเรียนรู้ด้วยว่าในสังคมปัจจุบันการ “เอาตัวรอดให้ได้” เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันไม่ใช่แค่ภยันตรายจากการพลัดหลงกับพ่อแม่ แต่มันมีภยันตรายที่เข้ามาในรูปแบบต่างๆ ทั้ง ยาเสพติด เพศ สื่อ เกม มีสิ่งที่จะดึงรั้งออกจากทางที่ลูกควรเดินอยู่เสมอ หมอมี เป้าหมายในการเลี้ยงลูก นอกจากการตั้งใจเลี้ยงลูกให้มีความนับถือตัวเองที่ดี เป็นเด็กที่มีความสุข มีสัมพันธภาพที่ดีกับพ่อแม่ อีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญ หมอตั้งใจอยากให้ลูก “คิดเป็น” หมอไม่เคยตั้งเป้าหมายให้ลูกเรียนเก่ง เพราะหมอเชื่อว่าโลกของลูกในยุคข้างหน้า ไม่ใช่แค่เด็กเรียนดีที่จะอยู่ได้ แต่เป็นเด็ก “คิดเป็น” ที่จะอยู่รอด “โลกของลูกข้างหน้า” ที่ความรู้จะไม่ได้มาจากแค่ตำราหรือโรงเรียน โลกที่มีความท้าทายใหม่ๆ เข้ามาเสมอ ในขณะเดียวกันก็มีอันตรายและความเสี่ยง โลกที่ต้องการเด็กที่มีความคิดยืดหยุ่นได้ ตัดสินใจได้ ควบคุมตัวเองได้ดี
การคิดเป็น
(Executive Function = EF) เป็นหน้าที่สำคัญที่พ่อแม่ต้องช่วยลูกพัฒนา เพราะเด็กๆ ไม่ได้เกิดมาพร้อมสมองที่พัฒนาในเรื่องนี้ แต่เกิดมาพร้อมสมองที่ “พร้อมจะพัฒนา” ถ้ามีพ่อแม่และคนเลี้ยงดูที่ดีคอยช่วยเหลือ การพัฒนาการคิดเป็น (Executive Function) เป็นการพัฒนาของสมองส่วนหน้า “สมองส่วนบัญชาการ” ที่มนุษย์พัฒนาได้มากกว่าสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่น
การคิดเป็น ประกอบไปด้วยการสร้างหลัก 3 อย่างที่สำคัญ
1. ความจำใช้งาน คือ ความสามารถในการจำสิ่งต่างๆ และนำออกมาใช้งานเพื่อการคิด ตัดสินใจ และใช้ในการสื่อสาร
2. การยับยั้งชั่งใจ คือ ความสามารถในการควบคุมความคิด ความต้องการ ควบคุมอารมณ์ของตนเอง การโฟกัสที่จุดหมาย ไม่ ว่อกแว่กง่าย การประเมินเพื่อพัฒนาตนเอง เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจ รวมไปถึงการ “คิดก่อนทำ”
3. การยืดหยุ่นทางความคิด คือ ความสามารถ ในการปรับตัว ปรับความคิดความต้องการ การจัดลำดับความสำคัญ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายการพัฒนาสมองลูกให้คิดเป็น ทำได้ง่ายๆ ด้วยการเล่น การทำกิจกรรมที่มีเป้าหมาย การทำให้ลูกมีประสบการณ์ที่หลากหลาย และการเลี้ยงดู เชิงบวกที่ไม่ทำลายสมอง
• การเล่น แทบทุกอย่างล้วนพัฒนาสมองลูก ในเด็กเล็ก เช่น เล่นจ๊ะเอ๋ เล่นซ่อนของให้หา ต่อบล็อค ร้องเพลง การสนทนา การอ่านนิทาน ฯลฯ ในเด็กก่อนเข้าเรียน การเล่นด้วยภาษา เช่น เกมทายคำศัพท์ ผลัดกันพูดชื่อสัตว์สิ่งของ เพลงประกอบท่าทาง จะช่วยพัฒนาทั้งความจำใช้งาน การยับยั้งชั่งใจ และการยืดหยุ่นทางความคิด การสอนภาษาที่สอง จะช่วยเพิ่มศักยภาพของสมอง การเล่นทราย ต่อจิ๊กซอว์ การปีนป่าย การปั้น การต่อบล็อคสร้างชิ้นงาน การวาดรูป การเล่านิทานต่อเป็นเรื่อง ฯลฯ จะช่วยพัฒนาความสามารถทางการคิดในเด็กโต การเล่นที่มีกติกา เล่นเป็นทีม เล่นบทบาทสมมุติ บอร์ดเกม เกมสร้างเมือง ต่อเลโก้ การเล่นดนตรี ร้องเพลง เล่นกีฬา การอ่าน การวาดเขียน การปีนที่สูง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ช่วยพัฒนาศักยภาพของการคิดเป็น
• การทำกิจกรรม ตัวอย่างกิจกรรมง่ายๆ ที่สร้างการพัฒนาการคิดเป็น แบบครบรอบด้าน คือ “การทำงานบ้าน” “การทำงานที่ได้รับ มอบหมาย” “การทำโครงการที่ตั้งเป้าหมายได้สำเร็จ”
• การทำให้ลูกมีประสบการณ์ที่หลากหลาย ทั้งจากการปล่อยให้ลูกแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน และการพาลูกออกเดินทาง เพื่อพบเจอประสบการณ์ใหม่ๆ ล้วนแล้วแต่ทำให้มีการพัฒนาของสมองส่วนหน้า หรือ สมองส่วนคิด
• การเลี้ยงดูเชิงบวก ที่ทำให้สมองส่วนคิดวิเคราะห์พัฒนาได้เต็มศักยภาพ ที่สำคัญการเล่น การทำกิจกรรมร่วมกัน การเป็นเพื่อนร่วมทางเพื่อไปถึงจุดหมาย ล้วนแล้วแต่สร้างสิ่งสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดสิ่งหนึ่งในชีวิตลูก.... การมีสัมพันธภาพที่ดีกับพ่อแม่ รักลูก... เลี้ยงลูกให้เป็นเด็กคิดเป็น และเป็นกัลยาณมิตรของลูกกันนะคะ
หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ผู้เชื่อว่าการเล่นเพื่อคิดเป็น เป็นงานสำคัญของชีวิตลูก