Happy Talk
Life Spiration
Live And Learn
Eco-Living
Family In Love
Eat Am Are
Get Fit
Healthy Guide
Money Session
Live Offline
Happy Plus
Happy Life Club
BLA Product
article image
Family In Love

ห่างวัย สายสัมพันธ์ไม่ห่างเลย
โดย เมริษา ยอดมณฑป (นักจิตวิทยา เพจตามใจนักจิตวิทยา)

ปัจจุบันนี้ ใครหลาย ๆ คนอาจจะอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งอยู่ในวัยเกษียณ วัยนี้ตามพัฒนาการชีวิต จะเป็นวัยที่ต้องการให้ลูกหลานเห็นคุณค่า ในขณะที่ตัวเราอยู่ในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นวัยแห่งการทำตามความฝัน และสร้างเนื้อสร้างตัว เพื่อความมั่นคงในชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นบางครอบครัวอาจจะมีคนสามวัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน เช่น มีพ่อแม่ของตัวเอง ตัวเอง และลูก แต่วัยที่ห่างกัน ไม่ใช่อุปสรรคในการสร้างสายสัมพันธ์ หากเราเปิดใจ และทำความเข้าใจคนแต่ละวัยในบ้านของเรา



ถ้าเทียบพ่อแม่วัยเกษียณกับลูกเรา พ่อแม่กำลังจะกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ไม่ได้หมายถึงผิวกายกับสีผม แต่หมายถึงสมรรถภาพทางกาย เขาจะค่อยๆ เคลื่อนไหวได้ช้าลง ปวดเมื่อยง่ายขึ้น บางคนมียาที่ต้องกินสารพัด แค่ฟังชื่อยา และจำวันที่หมอนัด เรายังรำคาญเอง ไม่ต้องถามถึงเจ้าตัว เขารำคาญมากกว่าเราหลายเท่า
 
ในทางกลับกัน พ่อแม่วัยเกษียณกลับเป็นวัยที่ต้องการการมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตนทำ และสิ่งที่ตนเป็นจากลูกหลาน ดังนั้นถ้าหากเราบอกให้เขาอยู่เฉย ๆ อย่าทำอะไรมาก เขาจะรู้สึกแย่กับตัวเองมาก ๆ แต่ถ้าเราบอกให้เขาช่วยทำนู่นทำนี่ให้หน่อย หรือ ชวนเขามาช่วยงาน ออกความเห็นอะไรบ้าง เขาจะรู้สึกดี กระปรี้กระเปร่าทันใด เพราะตัวเขาเป็นที่ต้องการของลูกหลาน ทำให้เขาได้รับการมองเห็นคุณค่านั่นเอง
 
สิ่งที่ลูก ๆ ควรทำความเข้าใจพ่อแม่วัยเกษียณ มีอยู่ 2 เรื่องใหญ่ ๆ ประกอบด้วย

ร่างกายของพ่อแม่เราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ความจำเลอะเลือน” ถามเรื่องซ้ำ ๆ เล่าเรื่องเดิม ๆ
“หูพาลหาเรื่อง” อาการหูตึงที่ทำให้สื่อสารกันไม่รู้เรื่องสักทีกับลูกหลาน
“กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง กระดูกเริ่มพรุน” พาลให้เดินเหินไม่คล่องแคล่วเหมือนเดิม เคลื่อนไหวทีก็ปวดเมื่อยตามตัวไปหมด ซ้ำร้ายยังต้องเข้าห้องน้ำบ่อยกว่าเดิมอีก
เมื่อร่างกายไม่เหมือนเดิม อิสระที่เคยได้รับก็ถูกจำกัดลง เนื่องจากต้องพึ่งพาคนอื่นมากขึ้น พ่อแม่วัยเกษียณจึงรู้สึกแย่กับตัวเอง และมองว่าตัวเองเป็นภาระได้ง่ายมาก จิตใจจึงได้รับผลกระทบตามมา ลูก ๆ อย่างเราสามารถช่วยพ่อแม่ได้ด้วยการรับฟัง และไม่โกรธเมื่อพ่อแม่ถามหรือเล่าเรื่องเดิม ๆ ให้เราฟัง
 
พ่อแม่เราจะยึดติดกับข้าวของเครื่องใช้มากขึ้น และกลัวการเปลี่ยนแปลง
ข้าวของเครื่องใช้เก่า ๆ ก็คงเหมือนกับคน ๆ หนึ่งที่ผ่านชีวิตมาพร้อมกันกับเขา ที่สำคัญบ้านที่มีข้าวของเครื่องใช้จากยุคสมัยที่เขาเคยอยู่ ทำให้เขารู้สึกว่ายังมีพื้นที่ที่เขาอบอุ่นใจและปลอดภัย ดังนั้น ค่อยๆ คุยกับเขา อย่าหักดิบโดยเอาไปทิ้งเลย พ่อแม่อาจใจสลายได้ ให้เขาได้มาเลือก ถ้าอันไหนเกินเยียวยา ถ่ายรูปแล้วอัดเป็นอัลบั้มให้เขาไว้ดูคลายความคิดถึง แต่ถ้าอันไหนทิ้งไม่ได้จริง ๆ ลูกก็ต้องยอมรับให้ได้
 
ถ้าลูกคนไหนอยู่บ้านพ่อแม่ เราควรเคารพในการตัดสินใจและแนวทางในการจัดบ้านของพ่อแม่ แต่ถ้าลูกคนไหนพาพ่อแม่มาอยู่ด้วย เราสามารถกำหนดกติการ่วมกัน พ่อแม่สามารถนำของแบบไหนมาเก็บได้บ้าง และห้องของพ่อแม่ แต่ในกรณีที่ข้าวของเครื่องใช้ที่พ่อแม่เก็บเริ่มส่งผลอันตรายต่อสุขภาพกายใจ ควรพาพ่อแม่ไปพบจิตแพทย์นะคะ เพราะพ่อแม่เราอาจจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเก็บสะสมของ (Hoarding Disorder)



สำหรับบ้านที่มีลูกวัย 0-6 ปี พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า วัยนี้เป็นวัยที่ต้องการความสนใจและการดูแลอย่างใกล้ชิดจากพ่อแม่ เด็กวัยนี้กำลังทดสอบร่างกายของพวกเขาว่า สามารถทำอะไรได้บ้าง คงไม่น่าแปลกใจที่เขาจะวิ่งไม่หยุด เล่นไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ดังนั้นเราควรหาเวลาเลี้ยงลูกและสอนเขาด้วยตัวเองให้มากที่สุด เพื่อไม่สร้างภาระให้กับพ่อแม่ของเราที่ร่างกายอาจจะไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป และสร้างปัญหาให้กับลูกเราเองในอนาคต
 
สำหรับบ้านที่มีลูกวัยรุ่น พ่อแม่ต้องเข้าใจว่า ลูกอยู่ในวัยที่กำลังต้องการเป็นที่ยอมรับจากสังคม คือ เพื่อน ๆ ของเขา หากเขาพูดกับเราน้อยลง และไม่อยากทำกิจกรรมกับเราเหมือนแต่ก่อน อย่าได้น้อยใจไป ถ้าสายสัมพันธ์ดีเขาจะกลับมาหาเราเอง ที่สำคัญวัยนี้เขาต้องการผู้รับฟัง มากกว่าผู้สอนสั่ง ลูกเลยวัยที่พ่อแม่จะสั่งให้ทำทุกอย่างแล้ว เขาควรเรียนรู้และแก้ปัญหานั้นด้วยตัวเขาเอง พ่อแม่มีหน้าที่แนะนำ เป็นเพื่อน คอยให้การสนับสนุน



เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน
กติกาที่สำคัญในการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว คือ  “กฏ  3 ข้อ” ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำลายข้าวของ ในการอยู่ร่วมกันเราไม่ควรทำร้ายกันทั้งทางกาย วาจา และใจ สำหรับการทำร้ายคนในครอบครัวมักจะเผลอกระทำออกไปได้ง่ายที่สุด คือ การทำร้ายกันทางวาจา เช่น  “รำคาญ”     “ภาระ” “โง่” “ไม่ได้เรื่อง” “ชอบหาเรื่องเข้าบ้านอยู่ได้”  เป็นต้น คำพูดเหล่านี้ไม่ว่าจะพูดกับพ่อแม่ หรือ ลูกของเรา ก็สามารถสร้างแผลใจให้กับผู้ฟังได้ทั้งนั้น ตัวเราเองก็คงไม่อยากให้ใครมาพูดกับเราเช่นนั้นเหมือนกัน
 
อย่ากลัวที่จะแสดงความรักต่อกัน
พ่อแม่อายุมากแล้ว อย่าเสียเวลาคิดมาก อยากทำอะไรก็ทำเถอะ จะกอด จะบอกรัก จะหอม จะพาไปสระผม จะพาไปกินข้าว จะจูงมือ ทำเถอะ เพราะถ้าไม่ได้ทำจะเสียดายไปทั้งชีวิต
ลูกของเรา เขาก็ไม่ได้เป็นเด็กไปตลอดชีวิต ช่วงเวลาที่เขาต้องการเรามากที่สุดก็แค่ 6 ปีแรกในชีวิต หลังจากนั้นเพื่อนจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเขาแล้ว ดังนั้นบอกรัก กอด เล่านิทาน เล่นกับเขาให้เต็มที่ในช่วงสำคัญนี้
 
ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด
“พ่อแม่วัยเกษียณ” ควรทำหน้าที่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูกหลาน ไม่สร้างเรื่องราวให้ลูกหลานเดือดร้อนใจ
“ตัวเราในฐานะลูก” ควรทำงานที่เลือกอย่างเต็มที่ แต่ไม่ลืมที่จะดูแลร่างกายและจิตใจของตนเองและคนในบ้าน
“ลูกหลาน” ควรเรียนรู้การช่วยเหลือตัวเอง และรับผิดชอบต่อหน้าที่ตามวัยของเขา
 
อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ
บางครั้งเวลาที่ครอบครัวของเรามีปัญหา ตัวเราเองอาจจะไม่พร้อมที่จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหานั้น หรือ เราไม่สามารถช่วยเขาแก้ปัญหาได้ ทางที่ดีที่สุด คือ การขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เช่น คนที่เราไว้ใจ หรือ การไปพบจิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา เป็นต้น

CONTRIBUTOR

เมริษา ยอดมณฑป

เรื่องต่อไป

อ่านเรื่องราวทั้งหมด