“มีเงินเพิ่มขึ้น”...ก็ใช้เพิ่มขึ้นได้จริงหรือ?

ปัจจุบันเราพูดถึงสมการการเงินสมัยใหม่ที่ช่วยสร้างวินัยการเงินให้กับเราว่า  “ค่าใช้จ่าย = รายได้ – เงินออม” หรือที่พูดกันสั้นๆ ว่า “ให้ออมก่อนใช้” แล้วหากเรามีรายได้เพิ่มขึ้นล่ะ…เราจะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นได้หรือไม่? 

ขอยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจน ถ้าเรามีรายได้เดือนละ 20,000 บาท เราออมเงินเดือนละ 20% หรือ เท่ากับ 4,000 บาท เราก็สามารถใช้เงินส่วนที่เหลืออีก 16,000 บาท เพราะเราได้หักเงินออมไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อเรามีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 20,000 บาท เป็น 25,000 บาท เราก็หักเงินออม 5,000 บาท เหลือใช้ 20,000 บาทได้สิ ซึ่งเท่ากับเราจะมีเงินใช้ได้เพิ่มขึ้นอีก 4,000 บาทต่อเดือน 


ก่อนที่จะนำเงินที่เราหาได้เพิ่มไปใช้ เรามาลองทำเช็คลิสต์กันก่อน เพื่อให้สบายใจว่าเราจะใช้เงินที่ได้รับเพิ่มขึ้นมาได้

  • ความแน่นอนของเงินได้ที่เพิ่มขึ้น: คำกล่าวที่ว่า “ความไม่แน่นอน คือ ความแน่นอน” เงินที่เราได้รับเพิ่มมาเป็นเพียงชั่วครั้งหรือตลอดไป ย่อมมีผลต่อรูปแบบการนำเงินไปใช้ 
  • สภาพคล่องพื้นฐานที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน: เชื่อว่าคนส่วนใหญ่มีสภาพคล่องพื้นฐานที่ดีพอ แต่หากเรามีเงินสดหรือเงินฝากในบัญชีธนาคารรวมกัน ไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่าย 3 เดือน เราควรแบ่งเงินที่ได้มาเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ได้อย่างน้อย 3 เดือน ก่อนนำเงินไปใช้ หรือหากจะให้ดีในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน เราควรเพิ่มสภาพคล่องให้ได้ถึง 6 เดือน
  • หนี้สินต่อสินทรัพย์: สมัยนี้การมีหนี้สินเป็นเรื่องปกติ แต่การมีหนี้สินที่มากกว่า 50% ของสินทรัพย์ทั้งหมดที่เรามีอาจเป็นเรื่อง “ไม่ปกติ” เพราะเป็นการสร้างภาระในระยะยาวที่มากเกินจำเป็น โดยเฉพาะถ้าหนี้สินที่มีอยู่เป็นหนี้สินที่ก่อภาระผูกพันไปจนถึงช่วงหลังเกษียณที่เรามีรายได้ลดลง และหนี้สินเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ยาก 


หากเรามีรายได้ที่ไม่มากนักและจำเป็นต้องก่อสินเชื่อเพื่อการดำเนินชีวิต เช่นการซื้อบ้านเป็นต้น เราจึงต้องพิจารณาความสามารถในการชำระคืนหนี้สินประกอบด้วย หากเรามี “หนี้สินในอัตราส่วนที่สูง” เราควรพิจารณาว่าเรามีการชำระคืนหนี้จากรายได้อย่างไร โดยการแยกออกเป็นหนี้สินที่เกิดจากการจดจำนองเช่นสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เป็นต้น และหนี้สินทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับการจดจำนอง ซึ่งโดยมากเป็นสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล การชำระคืนหนี้สินโดยรวมในอัตรา 35-45% ของรายได้ที่เรามีเป็นอัตราส่วนที่เหมาะสมในการบริหารค่าใช้จ่าย และเราไม่ควรมีเงินชำระคืนที่ไม่รวมภาระจดจำนองในอัตรา 20% ของรายได้

นอกจากนี้ เราควรออมเงินอย่างน้อยที่สุด 10% ของรายได้ที่เราได้รับ โดยเราสามารถออมในรูปแบบต่างๆ เช่น กองทุนสำรองเพื่อการเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินฝากต่างๆ เงินออมในประกันชีวิต และเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินต่างๆ ที่เราควรมี

และถ้าเรามีหนี้ในอัตราส่วนที่สูงมากเราควรนำเงินไป “ชำระหนี้” เพื่อลดภาระหนี้ลงหรือ “ออมเงินเพิ่มขึ้น” ​ปกติหนี้จากภาระการจดจำนองมักกำหนดจำนวนเงินที่เราต้องชำระคืนเป็นรายงวดที่เท่าๆ กัน เมื่อเรามีรายได้ที่เพิ่มขึ้น จำนวนเงินที่เราชำระในแต่ละงวดจะคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ที่ลดลงเรื่อยๆ หากเราต้องการคงอัตราการชำระคืนหนี้ในสัดส่วนเดิม คือ 35-45% ของรายได้ เราจึงต้องปรับจำนวนเงินชำระคืนรายงวดเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มของรายได้ด้วย


ดังนั้น จากตัวอย่างข้างบนเมื่อเรามีเงินเพิ่มขึ้นจาก 20,000 บาท เป็น 25,000 บาท เงินส่วนที่เพิ่มขึ้น 5,000 บาท จึงควรแบ่งไปใช้ในเรื่องต่างๆ โดยการแบ่งเป็นเงินออม 20% เท่ากับ 1,000 บาท และเงินชำระหนี้สิน 45% เท่ากับ 2,250 บาท

เงินที่เพิ่มขึ้นส่วนที่เหลือ คือ 1,750 บาท คือเงินที่เราสามารถนำไปใช้ได้นั่นเอง เมื่อเราพิจารณาผลของเงินออมที่เพิ่ม และเงินชำระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจะพบว่าผลของการออมเงินเพิ่มขึ้นจาก 4,000 บาท เป็น 5,000 บาท หากผลตอบแทนที่ได้รับโดยเฉลี่ย คือ 5% เมื่อออมเงิน 10 ปี จำนวนเงินที่เราออมได้จะเพิ่มจาก 607,000 บาท เป็น 759,000 บาท

ผลของเงินชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจาก 9,000 บาท เป็น 11,250 บาท หากมีหนี้สินเงินกู้บ้านคงเหลือ 1,200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 5% ระยะเวลาที่เราต้องผ่อนชำระจากเดิมคงเหลือประมาณ 21 ปี จะลดลงเหลือประมาณ 13 ปีเท่านั้น เมื่อ “มีเงินเพิ่มขึ้น” สม่ำเสมอ...แน่นอนก่อนจะนำไปใช้เราควรสร้าง “การออม” และ “ชำระหนี้สิน” ก่อนนำไปใช้ รวมถึงการทบทวนและปรับเป้าหมายทางการเงินต่างๆ โดยเฉพาะเป้าหมายการเงินเพื่อการเกษียณอายุ เป็นเรื่องที่ควรทำเมื่อเรามีรายได้ที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักต้องการมีคุณภาพชีวิตในช่วงหลังเกษียณที่ไม่แตกต่างจากคุณภาพชีวิตในช่วงก่อนเกษียณ เป้าหมายจึงควรทบทวนเมื่อเรามีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย เพียงเท่านี้เราก็จะสบายใจได้ว่าเงินที่เรานำไปใช้จ่ายเพิ่มเติมจะยังคง “สร้างความมั่นคงทางการเงิน” ในระยะยาวให้กับเรา
 
เขียนและเรียบเรียง : นรินทร์ เอกวงศ์วิริยะ นักวางแผนการเงิน CFP®​ สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

We use cookies on our website to give the best experience including to purpose information and other contents. Using our website means you accept Terms and Conditions Privacy Notice and Cookies Policy.