ปวดท้อง...ท้องอืดไม่หาย อาจแฝงภัยร้ายมากกว่าที่คิด

ปวดท้อง...ท้องอืดไม่หาย อาจแฝงภัยร้ายมากกว่าที่คิด - Helicobacter Pylori (H. Pylori) แบคทีเรียสุดถึก...ภัยร้ายในกระเพาะอาหาร

ปวดท้อง ท้องอืด เรอบ่อย คืออาการทั่วไปของร่างกายที่พบเป็นประจำ แต่อย่านิ่งนอนใจเพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคร้ายอย่างมะเร็ง โดยภัยร้ายที่เป็นสาเหตุของโรคนั้น อาจจะแอบแฝงซ่อนตัวอยู่ภายในร่างกายของเรานี้เอง

 

Helicobacter Pylori (H. Pylori) แบคทีเรียสุดถึก...ภัยร้ายในกระเพาะอาหาร

แบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ไพโรไล (Helicobacter Pylori) คือ แบคทีเรียที่ก่อให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบที่มีรูปร่างเกลียว (spiral) พบได้ในเกือบทุกประเทศทั่วโลก สายพันธุ์ของเชื้อจะมีความแตกต่างกันไปตามภูมิภาค มีการผสมข้ามระหว่างสายพันธุ์เกิดขึ้นได้ สามารถถ่ายทอดจากคนสู่คนผ่านน้ำลายและอุจจาระได้ เชื้อสามารถอาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้นานหลายสิบปีและมักจะมีการได้รับเชื้อมาตั้งแต่เด็กไม่ว่าจะในระหว่างการคลอดบุตรที่รับจากมารดา การจูบปาก การทานอาหารร่วมกันโดยไม่ใช้ช้อนกลาง หรือจากการปนเปื้อนเชื้อในน้ำและอาหาร การเตรียมอาหารไม่สะอาด การปรุงอาหารไม่สุก การทานอาหารร่วมกันพอเหลือแล้วนำไปเก็บในตู้เย็นเพื่อจะนำมาทานต่ออีกครั้งก็ทำให้เชื้อนี้เจริญเติบโต เกือบทุกคนในประเทศที่กำลังพัฒนาจึงมักมีเชื้อนี้อยู่ และเมื่อรักษาหายแล้วก็ยังกลับมาเป็นซ้ำได้อีกจากการไม่ระมัดระวังเรื่องสุขอนามัย

 

ร้ายแค่ไหน?

แม้ว่าแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ไพโรไล (Helicobacter pylori) จะมีการค้นพบเมื่อราว ๆ 40 ปีมานี้เอง (พ.ศ.2525) การติดเชื้อ H. Pylori จัดได้ว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขในระดับโลก เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อแบคทีเรียนี้รวมแล้วมากกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก ในประเทศไทยเองมีผู้ติดเชื้อมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ในปี ค.ศ.2012 องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้ H. Pylori เป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่มที่ 1 และมีรายงานยืนยันจากองค์กรวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (IARC) ในปี ค.ศ.2014 รายงานว่า ราว 80% ของผู้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารทั่วโลกมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ H. pylori เรื้อรัง

 

แข็งแรงจนอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารได้

จ้าแบคทีเรีย H. Pylori สามารถอาศัยในกระเพาะอาหารร่วมกับเราได้โดยไม่ก่อโรคจนตลอดชีวิตของเรา ราว 10-15 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ติดเชื้อเท่านั้นที่มีอาการของโรค ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ และอาจพัฒนากลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารต่อได้ในที่สุด การติดเชื้อแบคทีเรีย H. Pyloriจัดเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร คิดเป็นสัดส่วน 60% ของสาเหตุทั้งหมดในการเกิดโรคนี้

 

แล้วทำไมมันจึงทนกรดในกระเพาะอาหารเราได้? ปกติกระเพาะอาหารของคนเราจะมีชั้นเยื่อเมือกซึ่งทำหน้าที่ปกป้องผิวกระเพาะอาหารไม่ให้สัมผัสกรดที่หลั่งออกมาขณะย่อยอาหาร และความเป็นกรดเข้มข้นนี้ทำให้แบคทีเรียส่วนใหญ่ไม่สามารถอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารเราได้ แต่เจ้าแบคทีเรีย H. Pylori กลับมีความถึกทนเป็นพิเศษ โดยมันสามารถปล่อยสารบางอย่างออกมาเพื่อต่อต้านความเป็นกรดได้ ในขณะเดียวกันก็สร้างสารที่ปรับสภาพแวดล้อมรอบตัวมันให้สามารถอาศัยอยู่ที่ผิวกระเพาะอาหารของเราได้อย่างสบายๆ และสารเหล่านี้แหละที่ทำให้เกิดความเสียหายของชั้นเยื่อเมือกและผิวของกระเพาะอาหารบริเวณนั้น ทำให้ผิวของกระเพาะอาหารของเราไม่มีอะไรมาปกป้อง และถูกน้ำกรดในกระเพาะสัมผัสโดยตรง จึงเกิดบาดแผล และเกิดการอักเสบในเวลาต่อมา

 

ตรวจหาเชื้อ H. Pylori ได้อย่างไร?

การตรวจหาเชื้อ H. Pylori สามารถทำได้หลายวิธี ปัจจุบันนิยมตรวจหาโดยวิธีการส่องกล้องเพื่อตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy) ตรวจสอบจากลมหายใจ และการตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ ขั้นตอนการตรวจ – รักษา เริ่มจากหาสาเหตุการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร ตัดชิ้นเนื้อ → ตรวจสอบลมหายใจ → หาภูมิคุ้มกัน ขั้นตอนบางอย่างอาจแตกต่างกันไปตามแนวทางการรักษาของแพทย์แต่ละท่าน หากตรวจพบการติดเชื้อ มักจะรักษาด้วยการให้รับประทานยายับยั้งการหลั่งกรด นาน 6-8 สัปดาห์ ร่วมกับยาปฎิชีวนะ นาน 1-2 สัปดาห์ หลังจากหยุดยา 4 สัปดาห์ จะให้กลับมาตรวจซ้ำเพื่อยืนยันผลการรักษา

 

แนวทางการสังเกตอาการและวิธีการรักษา

การติดเชื้อ H. Pylori สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับยาลดกรด ดังนั้นการสังเกตอาการที่น่าสงสัย เช่น อาการปวดท้องอย่างรุนแรงเรื้อรัง แม้ทานยาลดกรดก็ไม่ดีขึ้น, ท้องอืด, อาเจียน, เรอบ่อย, มีปัญหาในการกลืน, น้ำหนักลด, อุจจาระเป็นสีดำ เป็นสัญญาณเตือนให้เราควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย และรีบดำเนินการรักษาให้หายโดยเร็ว ก่อนที่อาการจะพัฒนาไปในทางที่แย่ลงและเกิดการกลายพันธุ์ของเนื้อเยื่อบริเวณที่เสียหายกลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารต่อมาในที่สุด จะเห็นได้ว่าการติดเชื้อ H. Pylori เป็นได้ง่ายและเป็นได้ทั่วไป นอกจากนั้นยังเป็นเชื้อที่กระตุ้นในเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารลำดับต้น ๆ ดังนั้นการทำประกันโรคร้ายแรง ตั้งแต่อายุยังน้อย ก็สามารถที่จะคุ้มครองความเสี่ยงตรงนี้ได้อย่างครบถ้วน

 

สงวนลิขสิทธิ์บทความและเนื้อหาโดย บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)

เอกสารอ้างอิง

  1. กลุ่มวิจัยโรคกระเพาะอาหาร สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย.(2559). แนวทางเวชปฏิบัติในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร(Helicobacter pylori) ในประเทศไทย พ.ศ. 2558, บริษัท คอนเซ็พท์ เมดิคัส จำกัด, กรุงเทพฯ
  2. ทน พญ.วราภรณ์ ฟักโพธิ์. (2561). “การทดสอบเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อ Helicobacter pylori จากเลือด.” วารสารงานห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์, 3, 3-8.
  3. www.nobelprize.org, (2005). The Nobel Prize in Physiology or Medicine 2005 สืบค้นจากhttps://www.nobelprize.org/prizes/medicine/2005/press-release/
  4. www.discoverymagazine.com. (2010). The Doctor Who Drank Infectious Broth, Gave Himself an Ulcer, and Solved a Medical Mystery. สืบค้นจาก https://www.discovermagazine.com/health/the-doctor-who-drank-infectious-broth-gave-himself-an-ulcer-and-solved-a-medical-mystery
  5. www.wcrf.org, (2018). stomach cancer report 2016 (Revised 2018). สืบค้นจาก https://www.wcrf.org/dietandcancer/stomach-cancer
  6. Minesh Khatri, MD. (2018) www.webmd.com , What is H. pylori? สืบค้นจาก https://www.webmd.com/digestive-disorders/h-pylori-helicobacter-pylori#1

 

×

Please use the contact form below.
We'll get back to you as quickly as possible.