เสริมสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” และ “วัคซีนทางการเงิน”...เพื่อรับมือไวรัสครองโลก

"36.4 องศา ผ่านครับ อย่าลืมสแกนคิวอาร์โค้ดไทยชนะนะครับ"
 
ถึงตอนนี้เราคงคุ้นชินกับคำพูดคล้ายๆ กันนี้แล้ว จากการใช้ชีวิตอยู่กับวิกฤติการณ์ไวรัสโควิด-19 มานานเกินปีกับความหวังว่าวัคซีนโควิดที่เริ่มฉีดแล้วจะช่วยให้เราได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เหมือนเดิม
 
“รูปแบบการใช้ชีวิตท่ามกลางวิกฤติแบบนี้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ จากการหดหายของกำลังซื้อและการบริโภคทั้งจากภายในประเทศและภายนอกประเทศที่ทำให้ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจลดลงไป เมื่อการหมุนเวียนอ่อนแรงลง รอบการหมุนเวียนก็ยิ่งช้าลง ช่วงแรกๆ ธุรกิจและบุคคลยังพอมี ‘สภาพคล่อง’ หรือ ‘เงินสำรองเพื่อใช้จ่าย’ แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้นสภาพคล่องต่างๆ เริ่มหดทำให้เราต้องคิดว่าแผนที่เราเตรียมไว้ในช่วงต้นของการระบาดยังเหมาะสมหรือไม่”
 
ระหว่างรอวัคซีนโควิด เราควรฉีด “วัคซีนการเงิน” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับตัวเราและครอบครัวให้เราสามารถดำเนินชีวิตไปจนกว่าการใช้ชีวิตจะกลับสู่ปกติต่อไป
 
ปิรามิดที่เป็นพื้นฐานการเงินหลัก ส่วนใหญ่สุดคือเรื่องความจำเป็นพื้นฐาน ที่ประกอบด้วย เงินสำรองฉุกเฉิน การบริหารร่ายรับรายจ่าย การสร้างความคุ้มครองต่างๆ  เราจึงควรฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับความจำเป็นพื้นฐานเหล่านี้ เราสามารถทำได้ดังนี้
 

“สภาพคล่อง”เป็นสิ่งแรกที่เราต้องเตรียมพร้อม

“สภาพคล่อง” ในภาวะปกติที่เรามักได้รับคำแนะนำทางการเงินคือ 3 เดือน ช่วงแรกของการระบาดที่ยังคาดการณ์อะไรไม่ค่อยได้หลายคนได้รับคำแนะนำให้มีสภาพคล่องประมาณ 6 เดือน ลองดูว่าตอนนี้เรามีสภาพคล่องต่ำกว่า 6 เดือนหรือเปล่า? ถ้าเรายังมีสภาพคล่อง ‘ไม่น้อยกว่า 6 เดือน’ ถือว่าเรายังพอมี ‘ภูมิคุ้มกันทางการเงิน’ เบื้องต้นอยู่พอสมควร
 
“หากเรามีปัญหาสภาพคล่อง ‘น้อยกว่า 3 เดือน’ เราควรเร่งเสริมภูมิคุ้มกันทางการเงินด้วยการหาทางเพิ่มสภาพคล่องของเราวิธีการที่พอทำได้คือการปรับปรุงแผนการใช้เงิน หรือการลดค่าใช้จ่ายลงให้สอดคล้องกับการได้รับเงินเข้ามาของเรา”
 
“การหารายรับเพิ่ม” อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับหลายคน “การปรับค่าใช้จ่าย” ให้สอดคล้องกับรายได้จึงเป็นวิธีที่เราควรทำ สมมุติเราเคยมีรายจ่ายเดือนละ 18,000 บาท เงินสำรองสภาพคล่อง 6 เดือนที่คำนวณจากรายได้ 18,000 บาท คูณ 6 เดือน เท่ากับ 108,000 บาท หากตอนนี้เรามีเงินสำรองสภาพคล่อง81,000 บาท เท่ากับเรามีสภาพคล่องที่ 4.5 เดือน ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่เพียงพอในสถานการณ์ปกติที่เรามีรายได้สม่ำเสมอ
 
“แต่ในสถานการณ์ที่เรามีความเสี่ยงด้านรายได้ หากเราสามารถลดรายจ่ายได้ 25% หรือมีรายจ่าย 13,500 บาทต่อเดือน เงินสำรองเพื่อสภาพคล่องก้อนนี้จะเทียบเท่ากับสภาพคล่องที่พอใช้ได้ 6 เดือนโดยทันที ลองพิจารณาปรับปรุงแผนการใช้จ่ายของเรากันครับ และถือโอกาสนี้ ‘ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น’ ด้วย”
 

ลดหนี้ที่ไม่จำเป็น

หนี้สินที่เป็น "รายจ่าย" ระยะยาว เช่นหนี้บ้าน หนี้รถ ศึกษา “วิธีบริหารหนี้” ดูครับว่าเราสามารถปรับปรุงหนี้ที่มีอย่างไร การปรับลดต้นทุนของหนี้ด้วยการหาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำกว่าเดิม การปรับยืดหรือลดระยะเวลาชำระหนี้เพื่อลดรายจ่ายประจำจากค่างวด รวมถึงการหยุดและชะลอการก่อหนี้ใหม่ๆ ที่ไม่จำเป็น
 
“วิธีลดหนี้ไม่จำเป็นนั้น สามารถทำได้ด้วยตัวเราโดยสร้างวินัยทางการเงินให้กับตัวเรา สำหรับการลดต้นทุนหนี้และการปรับแผนการชำระหนี้เราต้องปรึกษาเจ้าหนี้ หรือหน่วยงานบริหารหนี้ เช่น โครงการทางด่วนแก้หนี้ ของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ในส่วนของหนี้ที่สร้างรายได้ เช่นหนี้การค้าการลงทุน เราเพียงหาความรู้และข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ”
 

“ลดความเสี่ยง” ที่จะเกิดค่าใช้จ่ายเป็นเงินก้อนใหญ่ และการหายไปของรายได้

ช่วงที่เกิดปัญหาต่างๆ ย่อมก่อให้เกิดความเครียด ยิ่งหากมีปัญหาทับซ้อนเข้ามาเราจะยิ่งเผชิญความกดดันมากขึ้น การเจ็บป่วยอาจตามมาได้ ปัญหาด้านสุขภาพ หรือความเสี่ยงด้านต่างๆ อาจทำให้เราสูญเสียรายได้ และเกิดรายจ่ายในการรักษาพยาบาลและฟื้นฟูร่างกาย ลองทบทวนว่าเรามีความคุ้มครองค่าใช้จ่ายจากความเสี่ยงเหล่านี้อย่างไรบ้าง เรามีสวัสดิการจากรัฐและนายจ้างอย่างไร
 
“แม้เราจะมีประกันสังคมเป็นประกันพื้นฐาน แต่หากมีประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ที่ครอบคลุมเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายจากความเสียหายหรือการรักษาพยาบาลก็จะทำให้เราสามารถลดค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้”
 
สามเรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐาน แต่หลายคนยังทำได้ไม่ดี หากปรับจูนเรื่องเหล่านี้ให้ดีเราก็จะมี “ภูมิคุ้มกันทางการเงิน” ที่ดี ไม่ว่าในสถานการณ์ที่เราประสบอยู่หรือในสถานการณ์ปกติในทุกสถานการณ์นั้น “ปิรามิดการเงิน” ยังคงเหมือนเดิม การสร้างส่วนฐานของปิรามิดมีความสำคัญมากในภาวะวิกฤติการณ์ที่ดูเหมือนจะลากยาวไปอีกนาน และภูมิคุ้มกันทางการเงินนี้ก็ยังสามารถใช้ได้ตลอดไป
 
​เขียนและเรียบเรียง : นรินทร์ เอกวงศ์วิริยะ นักวางแผนการเงิน CFP®​ สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

We use cookies on our website to give the best experience including to purpose information and other contents. Using our website means you accept Terms and Conditions Privacy Notice and Cookies Policy.