รู้ทันโรคร้าย + ลดผลกระทบด้านการเงิน ด้วยการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง

โรคมะเร็งเป็นโรคที่ร้ายแรงและมีผลกระทบต่อประชากรหลายล้านคนทั่วโลก จากข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สูงที่สุดของไทย โดยในปี 2564 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง  83,795 ราย หรือคิดเป็นชั่วโมงละเกือบ 10 คน นอกจากความเจ็บป่วยทางกาย ผลกระทบทางจิตใจต่อผู้ป่วยและคนใกล้ชิด หรือการเสียชีวิตแล้ว โรคมะเร็งยังส่งผลกระทบต่อด้านการเงินอย่างมาก ทั้งค่ารักษาพยาบาลโดยตรง ค่าใช้จ่ายทางอ้อม และการเสียโอกาสในการสร้างรายได้ ซึ่งปัจจุบันแนวทางการรับมือกับโรคมะเร็งที่สามารถช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาหายขาด ทำได้ไม่ยุ่งยาก และค่าใช้จ่ายต่ำกว่าคือการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง เนื่องจากเมื่อตรวจพบโรคมะเร็งได้เร็ว การรักษามักจะได้ผลดีมากขึ้น และโอกาสการกลายเป็นมะเร็งระยะลุกลามลดลง
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งด้วยวิธีต่าง ๆ จะขึ้นกับชนิดของมะเร็งที่ต้องการคัดกรอง นอกจากนี้ ยังควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น อายุ เพศ ประวัติครอบครัว ความเสี่ยง และความจำเป็นตามมาตรฐานทางการแพทย์ ดังนั้นจึงแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เมื่อต้องการตรวจ หรือเมื่อมีอาการผิดปกติ สำหรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่พบบ่อยมีดังนี้

มะเร็งลำไส้ใหญ่

แนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป หรือมีอาการผิดปกติ หรือหากมีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้แนะนำให้ตรวจเร็วขึ้น เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ทุก 5 ถึง 10 ปี ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจคัดกรองโดยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Colonoscopy) หรือการตรวจอุจจาระหาเลือดที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (Fecal Occult Blood Test) ได้เช่นกัน ขึ้นการความเหมาะสม
 

มะเร็งเต้านม

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมแนะนำให้ตรวจด้วยหลายวิธีร่วมกันดังนี้
  • การตรวจเต้านมด้วยตนเอง แนะนำให้ผู้หญิงตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 1 เดือน
  • การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรม แนะนำให้ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป พบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมอย่างน้อยทุก 3 ปี ส่วนสตรีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปให้ตรวจทุกปี
  • การตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) แนะนำให้ตรวจเป็นประจำในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติเสี่ยง เช่น ประวัติครอบครัว มีบุตรช้า ประจำเดือนมาเร็ว หรือใช้ยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมน แนะนำให้ตรวจเร็วขึ้น


​มะเร็งต่อมลูกหมาก

การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากสามารถทำได้โดยการตรวจวัดระดับสารพีเอสเอ (PSA) ในเลือด ซึ่งแนะนำให้ผู้ชายอายุ 50 – 70 ปี หรือมีอาการผิดปกติ ตรวจเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ตรวจทางทวารหนัก (Digital rectal examination: DRE) ร่วมด้วยซึ่งช่วยให้การตรวจคัดกรองมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปัจจุบันยังมีการคัดกรองโรคมะเร็งวิธีอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการตรวจ PAP Smear หรือการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในกลุ่มผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดโดยการตรวจ Low-Dose CT เป็นต้น ทั้งนี้ การเลือกตรวจคัดกรองแต่ละวิธีอาจขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาในการเลือกตรวจคัดกรองตามมาตรฐาน ความจำเป็นทางการแพทย์ และความเหมาะสมของแต่ละบุคคล

แม้ว่าการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งบางวิธีมีราคาสูง แต่เมื่อเทียบกับการรักษาโรคมะเร็งแล้ว พบว่าการรักษาโรคมะเร็งมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ามาก ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อค่าใช้จ่าย ได้แก่ ชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค และ แนวทางการรักษา เป็นต้น ในการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยการผ่าตัด และการให้ยาเคมีบำบัด อาจมีค่ารักษาสูงกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งอาจกระทบกับความมั่นคงทางการเงินของผู้ป่วยและครอบครัว ดังนั้น การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งจึงมีส่วนช่วยให้ตรวจพบโรคได้ในระยะเริ่มแรก และช่วยลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม แม้การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งยังไม่สามารถป้องกันโรคมะเร็งได้ แต่สามารถจัดการความเสี่ยงด้านการเงินที่เกิดจากโรคมะเร็งได้ โดยหนึ่งในเครื่องมือที่มีอยู่ในปัจจุบันคือผลิตภัณฑ์กลุ่มประกันโรคร้ายแรง ซึ่งมีหลายรูปแบบ หลายความคุ้มครอง ตามความต้องการของผู้เอาประกัน ซึ่งเมื่อตรวจพบโรคมะเร็งแม้จะพบจากการตรวจคัดกรองก็ตาม ก็สามารถรับความคุ้มครองได้ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ที่กำหนด ช่วยผู้ป่วยและคนใกล้ชิดสามารถมุ่งมั่นกับกระบวนการรักษาได้อย่างเต็มที่ และประกันโรคร้ายแรงช่วยบรรเทาผลกระทบด้านการเงิน

โดยสรุปแล้ว การรับมือกับโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ แบ่งเป็นสองด้าน คือด้านโรค สามารถใช้การตรวจคัดกรองโรงมะเร็งเพื่อให้พบความผิดปกติเร็วขึ้นและผลการักษาดีขึ้น ส่วนด้านการเงิน สามารถใช้การทำประกันโรคร้ายแรง ช่วยคุ้มครองบรรเทาผลกระทบด้านการเงิน
 
เขียนและเรียบเรียง : เพชร สมบูรณ์กุลวุฒิ, พบ.
Reference : www.chulacancer.net, www.mayoclinic.org, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

We use cookies on our website to give the best experience including to purpose information and other contents. Using our website means you accept Terms and Conditions Privacy Notice and Cookies Policy.