สร้าง “Active” และ “Passive”…สู่ความมั่นคงทางการเงิน

ใครก็อยากมี “อิสรภาพในชีวิต” มีอิสรภาพในการเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ปัจจุบันมีการพูดถึง “อิสรภาพทางการเงิน (Financial Freedom)” หลายคนเข้าใจว่าอิสรภาพทางการเงินจะเกิดได้เมื่อเรามี ‘รายได้จากทรัพย์สิน’ หรือที่เรียกว่า ‘Passive Income’มากกว่ารายจ่ายรวม และเราไม่ต้องพึ่งพา ‘รายได้จากการทำงาน (Active Income)’ อีกต่อไป

“แต่การมีรายได้แบบ Passive Income ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีอิสรภาพทางการเงินในระยะยาวได้เสมอไป เพราะ Passive Income อาจไม่สร้างรายได้ที่สม่ำเสมอในระยะยาวไปตลอด ดังนั้นการก้าวไปสู่อิสรภาพทางการเงินจึงต้องมีการสร้าง ‘ความมั่นคงทางการเงิน’ก่อนเพื่อให้มั่นใจว่า เราจะมีรายได้สม่ำเสมอและเพียงพอได้จริง”

กว่าเราจะสามารถพึ่งพา Passive Income เพียงอย่างเดียวได้ต้องใช้เวลานานหลายปี ยิ่งในสภาวะการที่ผลตอบแทนต่างๆ ลดน้อยลงกว่าที่เราเคยได้รับและดูท่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกสักระยะคนที่มีแต่รายได้แบบ Passive Income อยู่เดิม หลายคนต้องประสบปัญหารายได้ที่ลดลงเพราะผลจากอัตราผลตอบแทนที่ต่ำลงมากในปัจจุบันทำให้ไม่เพียงพอกับภาระค่าใช้จ่ายที่มี ต้องปรับลดค่าใช้จ่ายลง และ/หรือหาทางเพิ่มรายได้ทางอื่นๆ หรือยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น

เราแบ่งรายได้ออกได้เป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

Active Income จัดเป็นรายได้ที่จำเป็นต้องใช้เวลาของเราเพื่อทำงานสร้างรายได้ด้วยตนเอง Active Income บางประเภทยังต้องมีการลงทุนอีกด้วย ในทางกลับกัน Passive Income บางประเภทกลับใช้การลงแรงเพื่อสร้างโดยไม่ต้องมีการลงทุนมากนัก
 

รูปแบบของ Passive Income แบ่งออกได้เป็น

  1. Passive Income ในรูปแบบของเงินสวัสดิการ ที่เห็นได้ชัดเจนคือเงินได้หลังเกษียณจากบำนาญของข้าราชการ เงินบำนาญจากประกันบำนาญ ประกันสังคม เบี้ยผู้สูงอายุ และเงินออมจาก กอช. กบข. หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น “ถือเป็น Passive Income ที่เราจะได้รายได้ที่ค่อนข้างแน่นอน ในเวลาที่เราไม่ทำงานหรือเกษียณจากการทำงานแล้ว เป็นรายได้ที่ขึ้นกับการปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในระหว่างช่วงเวลาที่เรามีรายได้แบบ Active Income”
  2. Passive Income ในรูปแบบของผลตอบแทนจากทรัพย์สินต่างๆ เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก เงินปันผลจากประกันชีวิต เงินปันผลจากกองทุนรวมประเภทต่างๆ เงินปันผลจากหุ้น ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น Passive Income ประเภทนี้มีหลักคิดที่ว่า “ให้เงินทำงานแทนเรา” และเป็น Passive Income ในรูปแบบที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน ต้องใช้การสะสมหรือสร้างทรัพย์สินให้มากจนพอที่จะสร้างผลตอบแทนให้กับเรา เราจึงต้องสร้างการออมจาก Active Income เพื่อนำไปลงทุนสร้างทรัพย์สินที่ก่อ Passive Income
  3. Passive Income ในรูปของการให้สิทธิใช้งานทรัพย์สินทางปัญญา ในรูปของค่าลิขสิทธิ์ต่างๆ เช่นจากเขียนบทความหรือแต่งหนังสือ ลิขสิทธิ์เพลง ลิขสิทธิภาพถ่ายหรือวีดีโอการสร้างรายได้จากทรัพย์สินทางปัญญาเป็นได้ทั้ง Active Income ที่เรารับจ้างผลิตหรือผลิตเพื่อขายขาดเป็นครั้งๆ และ Passive Income ที่เราผลิตเป็นเจ้าของทรัพย์สินเองเพื่อแลกกับค่าลิขสิทธิในการนำไปใช้ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน

“ในยุคดิจิตอลนี้เปิดโอกาสให้เราสร้าง Passive Income จากทรัพย์สินทางปัญญาได้ง่ายขึ้นและเราสามารถใช้ความถนัดหรือความชำนาญที่เรามีสร้างทรัพย์สินเหล่านี้ขึ้นมา ให้เกิดรายได้จากทรัพย์สินเหล่านี้ในระยะยาว”
 

เราไม่จำเป็นต้องมีรายได้ Active Income หรือ Passive Income เพียงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น

​การมีรายได้ที่ทั้ง Active และ Passive “ผสมผสานกัน” เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ นอกจากทำให้เรามีสภาพคล่องที่ดีขึ้น สามารถสร้างการออมได้เพิ่มขึ้นยังช่วยลดความกังวลทางการเงินในช่วงที่รายได้มีความผันผวน เรายังอาจมีเงินมากขึ้นเพื่อใช้สำหรับความสะดวกสบายหรือใช้จ่ายเพื่อตอบสนองความต้องการได้เพิ่มขึ้น อีกข้อดีคือ การลดความกดดันทางอาชีพ เราสามารถเลือกทำงานแบบที่เราชอบ และสามารถเลือกใช้ชีวิตได้อิสระขึ้น 

“ลองหาโอกาสทบทวนรายได้ที่เรามีอยู่ในปัจจุบันและหาโอกาสสร้างรายได้ในรูปแบบต่างๆ คนที่มีรายได้หลักแบบ Passive Incomeจากทรัพย์สินแบบเดียว อาจพิจารณาแนวทางการกระจายความเสี่ยงไปยังรายได้ประเภทต่างๆ รวมทั้งศึกษาทบทวนแนวโน้มในอนาคตว่าควรจะปรับหรือกระจายทรัพย์สินเพื่อสร้างรายได้ที่สมดุลอย่างไร” 

สำหรับคนส่วนใหญ่ที่น่าจะยังไม่มี Passive Income มากนัก ยังต้องอาศัยรายได้แบบ Active Income เป็นหลัก ช่วงที่เรายังพึ่งพิง Active Income และกำลังสะสมทรัพย์สินต่างๆ เพื่อสร้าง Passive Income นั้น เราก็สามารถสร้างอิสระของชีวิตในด้านต่างๆ ในระดับหนึ่ง เพื่อแบ่งเวลาไปทำกิจกรรมประเภทต่างๆ รวมถึงเวลาในการหาความรู้ต่างๆ ทั้งความรู้ในเรื่องที่เราสนใจและความรู้ทางการเงินก็เป็นสิ่งที่คนที่มี Active Income ควรพิจารณาจัดสรรเวลาด้วย
 

ก่อนที่เราจะก้าวไปสู่ “อิสรภาพทางการเงิน” เราจำเป็นต้องมี “ความมั่นคงทางการเงิน”

​เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะมีรายได้เพียงพอเพื่อรองรับภาระต่างๆ ในอนาคต มีแหล่งรายได้ต่างๆ ที่ผสมผสานกัน สร้าง  ‘Active Income’ และ ‘Passive Income’ ควบคู่กันไปเป็นส่วนหนึ่งในการก้าวสู่ความมั่นคงทางการเงินและอิสรภาพทางการเงินที่เป็นเป้าหมายระยะยาวของเรา
 
เขียนและเรียบเรียงโดย : นรินทร์ เอกวงศ์วิริยะ นักวางแผนการเงิน CFP®​ สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

We use cookies on our website to give the best experience including to purpose information and other contents. Using our website means you accept Terms and Conditions Privacy Notice and Cookies Policy.