วางแผนลดหย่อนภาษี ไม่ได้มีดีแค่ประหยัดเงินในกระเป๋า

ใกล้สิ้นปี นอกจากจะเริ่มวางแผนเดินทางท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมในช่วงวันหยุดยาวแล้ว  การวางแผนลดหย่อนภาษีก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเมื่อเราวางแผนบริหารจัดการภาษีอย่างเป็นระบบนั้น นอกจากจะประหยัดเงินในกระเป๋าได้แล้ว ยังเป็นการช่วยให้เราสามารถวางแผนการเงินอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย  และสามารถวางแผนชีวิตได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งยังสร้างวินัยในการใช้เงินในระยะยาวให้กับเราอีกด้วยะ

เมื่อเราเริ่มวางแผนที่จะลดหย่อนภาษี ก็ต้องเรียนรู้ “เครื่องมือ” ที่จะช่วยให้เราสามารถลดหย่อนภาษีได้กันก่อน เริ่มต้นง่ายๆ จากการโฟกัสกับเป้าหมายของ “ตัวเอง” ไลฟ์สไตล์การทำงาน “มนุษย์เงินเดือน” หรือ “ฟรีแลนซ์” ซึ่งมีความแตกต่างในเรื่องของรายได้และสวัสดิการที่มี จากนั้นเริ่มต้นวางแผนบริหารจัดการภาษีให้เหมาะสมกับแต่ละคน  โดยควรเริ่มจาก 
  1. ฐานรายได้ ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไร
  2. ในอนาคตเราต้องการใช้เงินเพื่อใคร  เช่น มีทุนประกอบธุรกิจส่วนตัว,  เพื่อบิดา-มารดา-บุตร, ต้องการมีบ้านเป็นของตัวเอง เพื่อเตรียมเงินไว้ดูแลตัวเองในวัยเกษียณ ฯลฯ
  3. จำนวนเงินที่ต้องการในอนาคต

เครื่องมือด้านการออมเพื่อช่วยลดหย่อนภาษี

เมื่อเราทราบความต้องการคร่าวๆ ของตัวเองแล้ว ก็เริ่มมองหา “เครื่องมือ” ที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้เราวางแผนได้เพิ่มเติมจากค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว คือค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน

ประกันชีวิต เป็นหนึ่งในเครื่องมือในกลุ่มนี้ ที่สามารถเลือกได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น
  • ประกันชีวิตแบบทั่วไป ได้แก่ ประกันชีวิต, ประกันสะสมทรัพย์, ซึ่งเบี้ยประกันสามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง รวมสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
  • ประกันชีวิตแบบบำนาญ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มค่าลดหย่อนประกันชีวิตและการลงทุนในการวางแผนเกษียณ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับ กองทุน RMF กองทุน SSF กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท  นอกจากนี้หากยังใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไป ยังไม่เต็ม 100,000 บาทแรก สามารถใช้เบี้ยประกันบำนาญไปรวมสิทธิ์ลดหย่อนในส่วนแรกได้เช่นกัน
ข้อดีของการวางแผนด้วยประกันชีวิตนอกจากจะลดหย่อนภาษีได้แล้ว ยังมีความเสี่ยงต่ำ และกรมธรรม์บางประเภทยังได้รับผลตอบแทนที่แน่นอนอีกด้วย นับเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งสำหรับการวางแผนเพื่อการลดหย่อนภาษีไปพร้อมกับเป้าหมายทางการเงิน

เลือกซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษีต้องพิจารณาอะไรบ้าง?

ผู้ที่ต้องการซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษี สำหรับกลุ่มมนุษย์เงินเดือน สามารถเริ่มวางแผนได้ตั้งแต่เริ่มทำงาน, มีบุตร จนถึงการวางแผนเพื่อใช้หลังเกษียณ โดยการเลือกประกันชีวิต ต้องคำนึงถึง
  1. สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ อาทิ การคุ้มครองชีวิต, สามารถเบิกเงินได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ จ่ายเงินก้อนหรือค่ารักษาเมื่อเจ็บป่วย, ได้รับเงินคืนในแต่ละงวดระหว่างปีกรมธรรม์ หรือเมื่อครบระยะเวลาตามสัญญากรมธรรม์
  2. ค่าเบี้ยประกันภัยในแต่ละงวด ซึ่งโดยทั่วไปสามารถเลือกวิธีการชำระเบี้ยภัยได้ทั้งแบบรายเดือน, ราย 3 เดือน, ราย 6 เดือน จนถึงรายปี
  3. ระยะเวลาความคุ้มครองและชำระเบี้ยประกันภัย ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องทราบคือ ระยะเวลาเอาประกันภัยสั้นที่สุดสำหรับการลดหย่อนภาษีคือ ระยะเวลา 10 ปี ปัจจุบันจึงมีกรมธรรม์ประเภท ระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปี ระยะเวลาชำระเบี้ยประกันภัย 5 ปี (10/5), ระยะเวลาคุ้มครอง 12 ปี ระยะเวลาชำระเบี้ยประกันภัย 6 ปี (12/6), ระยะเวลาคุ้มครอง 16 ปี ระยะเวลาชำระเบี้ยประกันภัย 8 ปี (16/8) ฯลฯ ออกมาให้เลือกพิจารณา ความหมายคือผู้ซื้อประกันชีวิต ต้องส่งเบี้ยประกันภัยตามจำนวนที่ระบุในกรมธรรม์ตรงเวลาตลอดระยะเวลา  5 / 6 / 8 ปี จากนั้นสามารถหยุดส่งเบี้ยประกันภัยโดยยังได้รับผลประโยชน์ความคุ้มครอง และเงินคืนตามเงื่อนไขที่กำหนดจนครบสัญญา รวมระยะเวลา 10 / 12 / 16 ปี เป็นต้น

เทคนิคการเลือกแบบประกันสำหรับกลุ่มอาชีพอิสระ

สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือที่เรียกว่า “ฟรีแลนซ์” ทริกที่แนะนำคือการเลือกประกันชีวิตที่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล และช่วงเวลาที่ขาดรายได้ เมื่อต้องหยุดพักรักษาตัว เพราะการทำงานฟรีแลนซ์เมื่อเจ็บป่วยนั้นต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเอง ไม่มีสวัสดิการจากบริษัทแบบเดียวกับมนุษย์เงินเดือน ดังนั้นเมื่อจะวางแผนบริหารจัดการภาษีด้วยประกันชีวิต จึงควรพิจารณาเลือกแบบประกันชีวิตที่ปิดจุดอ่อนของอาชีพ “ฟรีแลนซ์” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากเครื่องมือที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีค่าลดหย่อนภาษีประเภทอื่นๆ  ได้แก่ กลุ่มเงินบริจาค ค่าลดหย่อนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงค่าลดหย่อนจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐสนับสนุน ก็สามารถเป็นส่วนเสริมได้
โดยสรุป การวางแผนลดหย่อนภาษีด้วยการทำประกันชีวิต นอกจากจะช่วยให้ผู้วางแผนสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการ  ลดภาระทางภาษี ช่วยสร้างวินัยทางการเงิน แล้วยังมีอีกเป้าหมายที่สำคัญ คือการสร้างความคุ้มครองและดูแลตัวเองและคนที่รักให้อุ่นใจในทุกช่วงเวลานั่นเอง

We use cookies on our website to give the best experience including to purpose information and other contents. Using our website means you accept Terms and Conditions Privacy Policy and Cookies Policy.