สร้าง “Active” และ “Passive”…สู่ความมั่นคงทางการเงิน

ใครก็อยากมี “อิสรภาพในชีวิต” มีอิสรภาพในการเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ปัจจุบันมีการพูดถึง “อิสรภาพทางการเงิน (Financial Freedom)” หลายคนเข้าใจว่าอิสรภาพทางการเงินจะเกิดได้เมื่อเรามี ‘รายได้จากทรัพย์สิน’ หรือที่เรียกว่า ‘Passive Income’มากกว่ารายจ่ายรวม และเราไม่ต้องพึ่งพา ‘รายได้จากการทำงาน (Active Income)’ อีกต่อไป

“แต่การมีรายได้แบบ Passive Income ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีอิสรภาพทางการเงินในระยะยาวได้เสมอไป เพราะ Passive Income อาจไม่สร้างรายได้ที่สม่ำเสมอในระยะยาวไปตลอด ดังนั้นการก้าวไปสู่อิสรภาพทางการเงินจึงต้องมีการสร้าง ‘ความมั่นคงทางการเงิน’ก่อนเพื่อให้มั่นใจว่า เราจะมีรายได้สม่ำเสมอและเพียงพอได้จริง”

กว่าเราจะสามารถพึ่งพา Passive Income เพียงอย่างเดียวได้ต้องใช้เวลานานหลายปี ยิ่งในสภาวะการที่ผลตอบแทนต่างๆ ลดน้อยลงกว่าที่เราเคยได้รับและดูท่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกสักระยะคนที่มีแต่รายได้แบบ Passive Income อยู่เดิม หลายคนต้องประสบปัญหารายได้ที่ลดลงเพราะผลจากอัตราผลตอบแทนที่ต่ำลงมากในปัจจุบันทำให้ไม่เพียงพอกับภาระค่าใช้จ่ายที่มี ต้องปรับลดค่าใช้จ่ายลง และ/หรือหาทางเพิ่มรายได้ทางอื่นๆ หรือยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น

เราแบ่งรายได้ออกได้เป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

Active Income จัดเป็นรายได้ที่จำเป็นต้องใช้เวลาของเราเพื่อทำงานสร้างรายได้ด้วยตนเอง Active Income บางประเภทยังต้องมีการลงทุนอีกด้วย ในทางกลับกัน Passive Income บางประเภทกลับใช้การลงแรงเพื่อสร้างโดยไม่ต้องมีการลงทุนมากนัก
 

รูปแบบของ Passive Income แบ่งออกได้เป็น

  1. Passive Income ในรูปแบบของเงินสวัสดิการ ที่เห็นได้ชัดเจนคือเงินได้หลังเกษียณจากบำนาญของข้าราชการ เงินบำนาญจากประกันบำนาญ ประกันสังคม เบี้ยผู้สูงอายุ และเงินออมจาก กอช. กบข. หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น “ถือเป็น Passive Income ที่เราจะได้รายได้ที่ค่อนข้างแน่นอน ในเวลาที่เราไม่ทำงานหรือเกษียณจากการทำงานแล้ว เป็นรายได้ที่ขึ้นกับการปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในระหว่างช่วงเวลาที่เรามีรายได้แบบ Active Income”
  2. Passive Income ในรูปแบบของผลตอบแทนจากทรัพย์สินต่างๆ เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก เงินปันผลจากประกันชีวิต เงินปันผลจากกองทุนรวมประเภทต่างๆ เงินปันผลจากหุ้น ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น Passive Income ประเภทนี้มีหลักคิดที่ว่า “ให้เงินทำงานแทนเรา” และเป็น Passive Income ในรูปแบบที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน ต้องใช้การสะสมหรือสร้างทรัพย์สินให้มากจนพอที่จะสร้างผลตอบแทนให้กับเรา เราจึงต้องสร้างการออมจาก Active Income เพื่อนำไปลงทุนสร้างทรัพย์สินที่ก่อ Passive Income
  3. Passive Income ในรูปของการให้สิทธิใช้งานทรัพย์สินทางปัญญา ในรูปของค่าลิขสิทธิ์ต่างๆ เช่นจากเขียนบทความหรือแต่งหนังสือ ลิขสิทธิ์เพลง ลิขสิทธิภาพถ่ายหรือวีดีโอการสร้างรายได้จากทรัพย์สินทางปัญญาเป็นได้ทั้ง Active Income ที่เรารับจ้างผลิตหรือผลิตเพื่อขายขาดเป็นครั้งๆ และ Passive Income ที่เราผลิตเป็นเจ้าของทรัพย์สินเองเพื่อแลกกับค่าลิขสิทธิในการนำไปใช้ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน

“ในยุคดิจิตอลนี้เปิดโอกาสให้เราสร้าง Passive Income จากทรัพย์สินทางปัญญาได้ง่ายขึ้นและเราสามารถใช้ความถนัดหรือความชำนาญที่เรามีสร้างทรัพย์สินเหล่านี้ขึ้นมา ให้เกิดรายได้จากทรัพย์สินเหล่านี้ในระยะยาว”
 

เราไม่จำเป็นต้องมีรายได้ Active Income หรือ Passive Income เพียงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น

​การมีรายได้ที่ทั้ง Active และ Passive “ผสมผสานกัน” เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ นอกจากทำให้เรามีสภาพคล่องที่ดีขึ้น สามารถสร้างการออมได้เพิ่มขึ้นยังช่วยลดความกังวลทางการเงินในช่วงที่รายได้มีความผันผวน เรายังอาจมีเงินมากขึ้นเพื่อใช้สำหรับความสะดวกสบายหรือใช้จ่ายเพื่อตอบสนองความต้องการได้เพิ่มขึ้น อีกข้อดีคือ การลดความกดดันทางอาชีพ เราสามารถเลือกทำงานแบบที่เราชอบ และสามารถเลือกใช้ชีวิตได้อิสระขึ้น 

“ลองหาโอกาสทบทวนรายได้ที่เรามีอยู่ในปัจจุบันและหาโอกาสสร้างรายได้ในรูปแบบต่างๆ คนที่มีรายได้หลักแบบ Passive Incomeจากทรัพย์สินแบบเดียว อาจพิจารณาแนวทางการกระจายความเสี่ยงไปยังรายได้ประเภทต่างๆ รวมทั้งศึกษาทบทวนแนวโน้มในอนาคตว่าควรจะปรับหรือกระจายทรัพย์สินเพื่อสร้างรายได้ที่สมดุลอย่างไร” 

สำหรับคนส่วนใหญ่ที่น่าจะยังไม่มี Passive Income มากนัก ยังต้องอาศัยรายได้แบบ Active Income เป็นหลัก ช่วงที่เรายังพึ่งพิง Active Income และกำลังสะสมทรัพย์สินต่างๆ เพื่อสร้าง Passive Income นั้น เราก็สามารถสร้างอิสระของชีวิตในด้านต่างๆ ในระดับหนึ่ง เพื่อแบ่งเวลาไปทำกิจกรรมประเภทต่างๆ รวมถึงเวลาในการหาความรู้ต่างๆ ทั้งความรู้ในเรื่องที่เราสนใจและความรู้ทางการเงินก็เป็นสิ่งที่คนที่มี Active Income ควรพิจารณาจัดสรรเวลาด้วย
 

ก่อนที่เราจะก้าวไปสู่ “อิสรภาพทางการเงิน” เราจำเป็นต้องมี “ความมั่นคงทางการเงิน”

​เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะมีรายได้เพียงพอเพื่อรองรับภาระต่างๆ ในอนาคต มีแหล่งรายได้ต่างๆ ที่ผสมผสานกัน สร้าง  ‘Active Income’ และ ‘Passive Income’ ควบคู่กันไปเป็นส่วนหนึ่งในการก้าวสู่ความมั่นคงทางการเงินและอิสรภาพทางการเงินที่เป็นเป้าหมายระยะยาวของเรา
 
เขียนและเรียบเรียงโดย : นรินทร์ เอกวงศ์วิริยะ นักวางแผนการเงิน CFP®​ สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
×

Please use the contact form below.
We'll get back to you as quickly as possible.