อาการแบบนี้ไม่ใช่แค่ไข้หวัด แต่อาจเป็น “ไข้เลือดออก”
ไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) มี 4 สายพันธุ์ โดยมียุงเป็นพาหะนำโรค สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กวัยเรียนและวัยทํางาน จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 30 ปีที่ผ่านมา คุกคามต่อสุขภาพของประชากรโลกมากกว่า 2,500 ล้านคน โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย ประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ตอนกลางของทวีปอเมริกา รวมทั้งประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่นไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) มี 4 สายพันธุ์ โดยมียุงเป็นพาหะนำโรค สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กวัยเรียนและวัยทํางาน จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 30 ปีที่ผ่านมา คุกคามต่อสุขภาพของประชากรโลกมากกว่า 2,500 ล้านคน โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย ประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ตอนกลางของทวีปอเมริกา รวมทั้งประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่น
ยุงลายเป็นพาหะนำโรค
โรคไข้เลือดออกเดงกีไม่ติดต่อจากคนสู่คน แต่ติดต่อกันได้โดยมียุงลายตัวเมียเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดจากผู้ป่วยในระยะที่มีไข้สูงประมาณวันที่ 2-4 จะมีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก ระยะนี้จะเป็นระยะติดต่อจากคนสู่ยุง เชื้อจะเข้าไปฝังตัวในยุงและเพิ่มจำนวนมากขึ้นพร้อมที่จะเข้าสู่คนที่ถูกกัดต่อไป (โดยมีระยะฟักตัวในยุงประมาณ 8-12 วัน) เมื่อยุงที่มีเชื้อไปกัดคนอื่น เชื้อไวรัสก็จะเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่โดนกัด ก่อให้เกิดการติดเชื้อและป่วยตามมาหลังจากถูกกัดประมาณ 3-15 วัน โดยทั่วไปเฉลี่ยประมาณ 5-8 วัน
อาการและความรุนแรงของโรค
อาการมีความรุนแรงแตกต่างกันไป ผู้ป่วยส่วนมากจะไม่มีอาการ สำหรับผู้ที่มีอาการ จะมีอาการที่เด่นชัดคือ ไข้สูง (39-40 องศาเซลเซียส) 2-7 วัน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว ปวดท้อง (โดยเฉพาะด้านขวาบน) คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร อาจมีเลือดออกที่ตำแหน่งต่าง ๆ โดยที่พบบ่อยที่สุดคือบริเวณผิวหนัง ลักษณะเป็นจุดเลือดออกเล็ก ๆ กระจายตามแขนขาลำตัว ที่พบบ่อยถัดมาคือเลือดกำเดาไหล กรณีมีเลือดออกที่อวัยวะภายใน เช่นทางเดินอาหารจะมีอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำและซีดอย่างรวดเร็ว หากมีเกล็ดเลือดต่ำร่วมด้วย อาการเลือดออกก็จะรุนแรงมาก บางรายที่เมื่อไข้ลดลงแล้วจะมีภาวะช็อกตามมา ทำให้ความดันโลหิตต่ำ มือเท้าเย็นกระสับกระส่าย ปัสสาวะออกน้อย ซึม ชัก หมดสติหรือหัวใจหยุดเต้นได้
ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเดงกีบางคนอาจมีเพียงอาการไข้ ปวดศีรษะ/ปวดกล้ามเนื้อเท่านั้น ซึ่งเรียกว่า”ไข้เดงกี” กรณีทีมีการรั่วของพลาสมาหรือน้ำเหลืองออกจากเส้นเลือดซึ่งทำให้ความเข้มข้นของเลือดเพิ่มขึ้น มีน้ำในช่องปอดและช่องท้อง เรียกว่า “ไข้เลือดออก” อย่างไรก็ตาม ถึงแม้โรคไข้เดงกีกับโรคไข้เลือดออกจะมีนิยามที่แตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปมักเคยชินกับการเรียกรวม ๆ กันว่า “ไข้เลือดออก”
การรักษาและป้องกัน
ผู้ป่วยควรได้รับอาหารและนํ้าดื่มอย่างเพียงพอ ควรรับประทานอาหารอ่อน ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย อาจให้ดื่มนม นํ้าผลไม้ หรือนํ้าเกลือแร่ร่วมด้วย เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อลดไข้เป็นระยะ ๆ และใช้ยาพาราเซทตามอลเฉพาะเวลามีไข้สูงเท่านั้น ห้ามใช้แอสไพริน หรือไอบูโพรเฟนเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น คอยสังเกตอาการ หากพบว่าผู้ป่วยคลื่นไส้/อาเจียนมาก อ่อนเพลียมาก ปวดท้องมาก รับประทานอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ มีภาวะเลือดออกรุนแรง ให้สงสัยว่าอาจเกิดภาวะช็อก โดยเฉพาะเมื่อไข้เริ่มตํ่าลง เช่น ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นเบาเร็ว มือเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อย ซึม สับสน กระสับกระส่าย ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
ส่วนการป้องกันนั้น สามารถทำโดยระวังไม่ให้ถูกยุงลายกัด ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและบริเวณใกล้เคียงด้วยการปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขังไม่ให้ยุงเข้าไปวางไข่ได้ รวมทั้งการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกเพื่อลดอัตราการเกิดของโรค ลดความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตได้
เคยเป็นแล้ว…ก็เป็นได้อีก
เชื้อไวรัสเดงกีสามารถติดซ้ำได้หลายครั้ง เมื่อติดเชื้อสายพันธุ์ใดแล้วร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นไปตลอด แต่จะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่นเพียงชั่วคราว จึงทำให้มีโอกาสติดเชื้อเดงกี่ซ้ำในสายพันธุ์อื่นได้อีก จนกว่าจะครบทุกสายพันธุ์ หากสังเกตุอาการน่าสงสัย ให้รีบพบแพทย์ เพราะอาการเริ่มแรกจะคล้ายไข้หวัดซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยชะล่าใจและอาการแย่ลงจนสายเกินไป
สงวนลิขสิทธิ์บทความและเนื้อหาโดย บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
เอกสารอ้างอิง
- สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย
- ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย
- คู่มือวิชาการโรคติดเชื้อเดงกีและโรคไข้เลือดออกเดงกีด้านการแพทย์และสาธารณะสุข โดยสำนักงานโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณะสุข 2558
- www.https://ddc.moph.go.th/ disease_detail.php?d=44
- สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
- คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาลัยมหิดล
- สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย