มะเร็งเต้านม รู้เร็ว...ป้องกันรักษาได้

มะเร็งเต้านม ภัยเงียบของผู้หญิงทั่วโลก

7 ตุลาคมของทุกปี เป็น วันมะเร็งเต้านมสากล “World Breast Cancer Day”   เพื่อกระตุ้นเตือนและรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิง และถือเป็นภัยเงียบอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก สำหรับประเทศไทยพบว่า โรคมะเร็งเต้านมคิดเป็นเกือบร้อยละ 40 ของโรคมะเร็งในผู้หญิงทั้งหมด ตามข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติยังพบว่ามีผู้หญิงไทยได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมรายใหม่เพิ่มขึ้นถึงวันละ 41 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยมะเร็งเต้านมสูงถึงวันละ 12 ราย ซึ่งแนวโน้มการเกิดโรคนี้ยังคงสูงขึ้น แม้มีการรณรงค์และให้ความรู้เรื่องมะเร็งเต้านมอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ยังไม่รู้ว่าโรคนี้ใกล้ตัวขนาดไหน รวมถึงการเขินอายที่จะพูดถึง จึงอาจละเลยการตรวจคัดกรองโรค หรือการตรวจเต้านมโดยบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้เสียโอกาสในการตรวจพบโรคระยะแรกอย่างน่าเสียดาย 

มะเร็งเต้านมยังสามารถเกิดได้ในผู้ชายเช่นกัน เพียงแต่สัดส่วนน้อยกว่าผู้หญิงมาก โดยพบผู้ชาย 1 ใน 100 ของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมทั้งหมด ดังนั้นสถานการณ์โรคมะเร็งเต้านม จึงมีผลกระทบต่อประชากรไทยอย่างยิ่ง และการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ตรวจพบมะเร็งในระยะแรกซึ่งสามารถรักษาหายขาดได้ถึงร้อยละ 95 อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมก็มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น จำนวนเครื่องตรวจแมมโมแกรม และค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นเป็นปัจจัยที่ประชากรไทยไม่ได้รับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ


​ผลกระทบของโรคมะเร็งเต้านม

เช่นเดียวกับโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ “มะเร็งเต้านม” ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อชีวิตของผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย ด้านสภาพจิตใจ และด้านการเงิน ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของโรคมะเร็งเต้านมและแนวทางการรักษา ในด้านร่างกาย นอกจากการตรวจพบก้อน หากโรคมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น อาจส่งผลกระทบเช่น อาการปวดต่างๆ เหนื่อยมากขึ้น เบื่ออาหารน้ำหนักลด หรือการอุดตันกดทับของก้อนมะเร็ง และอาจนำไปสู่การเสียชีวิต เมื่อเข้ารับการรักษาแล้วอาจมีผลข้างเคียงจากการรักษาเช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน น้ำหนักลด ผมร่วง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทางการแพทย์มีหลายวิธีที่ช่วยให้สามารถลดผลกระทบด้านร่างกายเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าที่ร่างกายสามารถอำนวยได้

สภาพจิตใจของผู้ป่วยย่อมได้รับผลกระทบเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความวิตกกังวลในเรื่องโรคและการรักษา การคิดถึงผลกระทบต่อคนรอบข้าง หรือภาระหน้าที่การทำงาน ดังนั้น การเฝ้าสังเกตสภาพจิตใจของผู้ป่วยและคนรอบข้างและการรับความช่วยเหลือด้านสภาพจิตใจ จึงมีส่วนช่วยให้สามารถต่อสู้กับโรคมะเร็งเต้านมได้ในระยะยาว

อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลอย่างยิ่งคือผลกระทบด้านการเงิน เนื่องจากในการรักษาโรคมะเร็งใดๆ มักมีค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทาง ค่าเสียโอกาสจากการไม่ได้ทำงาน ดังนั้นหากมีการวางแผนรับมือล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ยังไม่เจ็บป่วย จะช่วยบรรเทาผลกระทบด้านการเงินได้เป็นอย่างดี


การตรวจคัดกรอง คือกุญแจสำคัญ

ปัจจุบัน การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการรับมือกับโรคนี้ เนื่องจากหากตรวจพบโรคในระยะแรก มีโอกาสสูงมากที่จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยแนวทางการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมมีหลายวิธีแตกต่างกันไปตามอายุ รวมทั้งระยะเวลาที่ควรเข้ารับการตรวจ ดังนี้
​​​

​แนวทางการรักษาโรคมะเร็งเต้านม

ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์สมัยใหม่ มีแนวทางการรักษาโรคมะเร็งเต้านมหลากหลายวิธี โดยขึ้นกับระยะของโรคที่เป็น และปัจจัยแวดล้อม เช่น การเข้าถึงการรักษาและค่าใช้จ่าย โดยผู้ป่วยสามารถวางแผนการรักษาร่วมกับแพทย์ผู้ดูแลเพื่อให้ผลการรักษาออกมาตรงกับความคาดหวังมากที่สุด ซึ่งวิธีการรักษาปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็นกลุ่มต่างๆ ได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี การให้เคมีบำบัด ตลอดจนวิธีใหม่เช่น การใช้ฮอร์โมนบำบัด หรือการใช้ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) เป็นต้น


มะเร็งเต้านม...ภัยร้ายที่เอาชนะได้

ถึงแม้ว่ามะเร็งเต้านมจะเป็นโรคที่ส่งผลกระทบอย่างมากตามที่กล่าวมา แต่ก็เป็นโรคที่เราสามารถเอาชนะได้ด้วยการตรวจคัดกรองและการรักษาอย่างเหมาะสม ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากที่สามารถเอาชนะโรคได้อย่างเด็ดขาดและมีความสุขกับการใช้ชีวิตอยู่กับคนใกล้ชิดต่อไป หรือแม้จะไม่หายขาด แต่ก็สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ กรุงเทพประกันชีวิต จึงร่วมรณรงค์ในโอกาสวันมะเร็งเต้านมสากลในเดือนตุลาคมนี้ ขอเชิญชวนผู้หญิงทุกคนให้ไปรับการตรวจตามคำแนะนำที่สถานพยาบาลที่สะดวก และขอส่งกำลังใจไปยังผู้ที่กำลังต่อสู้กับโรคร้าย ให้สามารถข้ามผ่านไปได้อย่างดี
 
บทความโดย : ศูนย์บริการการแพทย์ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
Reference : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, www.cancer.org

We use cookies on our website to give the best experience including to purpose information and other contents. Using our website means you accept Terms and Conditions Privacy Notice and Cookies Policy.