สอนลูกให้ใช้เงิน “เป็น”

​เคยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งในประเทศอังกฤษ ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินในการซื้อของใช้ประจำวันและสินค้าฟุ่มเฟือยต่าง ๆ พบว่ากลุ่มตัวอย่างกว่า 50% ยอมรับว่ามีสไตล์การใช้เงินเหมือนพ่อแม่และผู้ใหญ่ในครอบครัว สะท้อนให้เห็นว่าพ่อแม่และผู้ปกครองคือต้นแบบที่สำคัญในการสร้างนิสัยและพฤติกรรมในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านการเงินให้กับเด็ก ที่จะเรียนรู้จากพ่อแม่ และนำไปสู่การพัฒนานิสัยและพฤติกรรมต่าง ๆ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว
 
เด็กซึมซับแบบอย่างการใช้เงินของพ่อแม่ เด็กจะเรียนรู้การใช้เงินว่าพ่อแม่ซื้อทุกสิ่งอย่างที่อยากได้ หรือซื้อของที่จำเป็น เขาจะเรียนรู้ว่าอะไรฟุ่มเฟือยหรือไม่ก็จากการใช้เงินของพ่อแม่ พ่อแม่จึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างนิสัยและพฤติกรรมการใช้เงินให้กับลูกด้วย พ่อแม่สามารถสอนให้ลูกแบ่งเงินออกเป็นส่วนต่าง ๆ เช่น ส่วนแรกเป็นค่าใช้จ่ายภายในบ้านที่จำเป็น ส่วนที่สองคือเงินออมของครอบครัว ส่วนที่สามคือเงินค่าใช้จ่ายเพื่อการเรียนของลูก และส่วนสุดท้ายคือเงินส่วนที่เหลือ ซึ่งเราควรจะใช้เงินส่วนนี้ในเรื่องอื่น ๆ ก่อนหลังอย่างไร หากให้ลูกมีส่วนร่วมในเรื่องการคิดก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เขาคิดเป็น และเห็นคุณค่าของเงินด้วย
 
พ่อแม่ควรสอนลูกถึงที่มาของเงินสำหรับใช้จ่ายในครอบครัวด้วยว่า มาจากการทำงานของพ่อแม่หรือมาจากรายได้อะไร ให้ลูกเห็นว่าไม่ได้เป็นเงินที่ได้มาง่าย ๆ เพื่อให้เขาเห็นความสำคัญของเงิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะติดตัวลูกไปจนเป็นพฤติกรรมในอนาคต ช่วงเวลาที่กำลังใช้เงินเป็นช่วงเวลาสอนลูกได้เป็นอย่างดี อยากให้ลูกเป็นแบบไหน เริ่มจากตัวเราก่อน ช่วงที่พ่อแม่ลูกได้อยู่บ้าน ได้ใกล้ชิดกัน ลองมอบบทเรียนการใช้เงินให้ “เป็น” ให้กับลูกเพื่อพื้นฐานที่ดีสำหรับอนาคตของลูก


สอนเรื่องเงิน เริ่มได้ตั้งแต่วัยก่อนเข้าเรียน

การสอนลูกให้รู้จักที่มาของเงิน การแบ่งเงินและตัดสินใจใช้เงินให้เป็น สามารถปูพื้นได้ตั้งแต่เป็นเด็กเล็กวัยก่อนเข้าเรียนหรือวัยอนุบาลที่ลูกอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจการสอนด้วยคำพูด สามารถสร้างนิสัยจากการลงมือทำเรื่องต่าง ๆ เช่น
 

การออมเงิน

ออมเงินใส่กระปุกออมสินใบใส ๆ ที่ช่วยให้ลูกเห็นเงินที่เพิ่มขึ้นจนค่อย ๆ เต็มในกระปุก และยิ่งใส่มากก็ยิ่งเต็มเร็วขึ้น
 

การใช้เงิน

บอกให้ลูกได้รู้ว่าของแต่ละชิ้นที่ซื้อมีราคาเท่าไหร่ และมีผลกับเงินในกระปุกที่ลูกเก็บออมอย่างไร ตัวอย่างเช่น หากลูกอยากได้ของเล่นชิ้นใหม่ ให้ลูกใช้เงินในกระปุกซื้อ ลูกจะเห็นว่ากระปุกไม่เต็มสักทีและเงินในกระปุกยังลดลงไปด้วย สำหรับเด็กเล็ก ๆ วิธีการแบบนี้จะดีกว่าการสอนด้วยการบอกด้วยคำพูด
 

การตัดสินใจเลือกกับโอกาสที่จะเสียไป

เมื่อลูกโตขึ้นในระดับประถมศึกษา สามารถเพิ่มระดับการสอนให้ลูกเข้าใจมากขึ้น ให้ลูกรู้จักการตัดสินใจเลือกใช้จ่ายอย่างเหมาะสม โดยการตัดสินใจเลือกกับโอกาสที่จะเสียไป ให้ลูกได้ตัดสินใจว่าจะนำเงินไปใช้กับของอะไร ตัวอย่างเช่น ถ้านำเงินไปใช้ซื้อเกม ก็จะไม่เหลือเงินสำหรับซื้อรองเท้าคู่ใหม่
 

การได้เงินจากการทำงาน

สำหรับคนไทยวิธีนี้อาจต้องประยุกต์ โดยให้เป็นการได้เงินเพิ่มจากเงินที่พ่อแม่ให้ตามปกติ ก็จะช่วยให้ลูกรู้จักกตัญญูและรู้จักค่าของเงินจากการทำงาน ไม่ควรเป็นการให้เปล่า ๆ แต่ควรสอนให้ลูกรู้จักการทำงานเพื่อได้เงินเพิ่ม เช่น การมีหน้าที่นำขยะไปทิ้ง การช่วยทำความสะอาดบ้าน เป็นต้น
 

การชะลอการซื้อ

เพื่อเลี่ยงการใช้เงินตามความอยากได้หรืออารมณ์ในขณะนั้น อาจสอนให้ลูกเดินเลือกของอื่น ๆ ก่อนและถ้ายังอยากได้ค่อยกลับมาซื้อ และควรสอนให้ลูกมีจำนวนเงินที่ตัวเองควรใช้ในแต่ละวัน เช่น การให้ลูกรู้ว่าตนเองมีเงินวันละ 50 บาท เมื่อลูกใช้เงินครบ 50 บาทแล้ว ไม่สามารถใช้เงินในวันนั้นได้อีก ต้องรอจนถึงพรุ่งนี้จึงจะสามารถใช้เงินอีก 50 บาทได้ เป็นต้น ข้อดีคือการสร้างวินัยการใช้เงิน และ ลูกได้มีเวลาทบทวนว่ายังต้องการหรือไม่เมื่อความอยากได้ลดลง

นิสัยการใช้เงินที่ดี หรือการใช้เงินให้เป็น สามารถสอนได้ตั้งแต่เด็กซึ่งจะติดตัวไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ และพ่อแม่คือผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างนิสัยการใช้เงินให้กับลูกของตน นิสัยการใช้เงินที่ดี จะเป็นเกราะป้องกันลูกในอนาคตเมื่อลูกออกเดินทางชีวิตด้วยตัวเอง จะได้รู้จักบริหารการเงินของตัวเอง
 
เขียนและเรียบเรียง : นรินทร์ เอกวงศ์วิริยะ นักวางแผนการเงิน CFP สมาคมนักวางแผนการเงินไทย 
×

Please use the contact form below.
We'll get back to you as quickly as possible.