แนวคิด “ทฤษฎีใหม่” กับ “การจัดสรรการลงทุนส่วนบุคคล”

​จุดเด่นสำคัญของ “ศาสตร์พระราชา” ที่เกิดจากพระอัจฉริยภาพของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” คือการนำความรู้ด้านต่างๆ มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน และได้ทดลองจนเห็นผลเพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ทำให้เราสามารถนำแนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” มาประยุกต์ใช้กับการวางแผนการเงินได้เช่นเดียวกัน
 

“(เกษตร) ทฤษฎีใหม่”

 มีแนวคิดในการจัดสรรที่ดินที่มีจำกัดเพื่อทำให้เราสามารถดำรงชีวิตแบบพึ่งพาตนเองได้และลดรายจ่าย หากเหลือก็นำไปขายเป็นเงินเพื่อใช้ในด้านอื่นๆ ที่ดินส่วนหนึ่งใช้เพื่อสะสมน้ำที่เป็นหัวใจสำคัญทางการเกษตร เพื่อให้มีเพียงพอสำหรับใช้ในการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ตลอดปี

ด้วยหลักการจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัดและมีความไม่แน่นอน ทำให้สามารถสร้างประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างที่มีประสิทธิภาพและมีความมั่นคง ทำให้สามารถพัฒนาตัวเองให้ พออยู่พอกิน ไปจนถึง การสร้างแหล่งรายได้เพิ่มเติมในระยะยาว  “เกษตรทฤษฎีใหม่” แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน เริ่มจาก
 

ทฤษฎีใหม่ขั้นพื้นฐาน

 มีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรสามารถ “พออยู่พอกินและพึ่งพาตนเองได้” โดยเริ่มสร้างพื้นฐานด้วยการจัดสรรทรัพยากรที่อยู่จำกัดคือที่ดิน และการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีความไม่แน่ไม่นอนคือน้ำ ที่ดินที่มีอยู่สามารถแบ่งออกเป็น 4 ส่วน เพื่อแยกการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันในสัดส่วน 30:30:30:10 หรือยืดหยุ่นปรับให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่แตกต่างกันได้

“ที่ดิน 30% ส่วนแรกที่ถูกจัดสรรเพื่อนำไปใช้บริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีความไม่แน่นอนและแปรผันไปตามสภาพอากาศในแต่ละฤดูทำให้เสียโอกาสในการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีอยู่ เพื่อเก็บสะสมน้ำให้มีมากเพียงพอสำหรับการบริหารจัดการและนำไปใช้ประโยชน์จะเป็นการลดความผันผวนของปริมาณน้ำตามฤดูกาลและแต่ละปีที่มีปริมาณมากน้อยไม่เท่ากันทำให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อใช้กับที่ดิน 60% ที่ถูกจัดสรรเพื่อสร้างผลผลิตประเภทต่างๆ และที่ดินที่เหลืออีก 10% นั้นเพียงพอสำหรับใช้ประโยชน์ส่วนตัว" 

หลังจากเราลงมือปฏิบัติตามขั้นที่หนึ่งจน “พออยู่พอกิน” แล้ว เกษตรกรก็สามารถพัฒนาตนเองไปสู่ ทฤษฎีใหม่ในขั้นต่อไป คือ “ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง” ที่จะช่วยทำให้เกษตรกร “พอมีอันจะกิน” และ  “ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า” ที่เกษตรกรไม่จำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากการเป็นเกษตรกรแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
 

การจัดสรรการเงิน ตามแนวทาง “ทฤษฏีใหม่”

จะเห็นได้ว่าหลักการของ “ทฤษฏีใหม่” คือเป็นเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรที่เรามีอยู่จำกัดเพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ และเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีความไม่แน่ไม่นอนเพื่อป้องกันผลกระทบและเพิ่มโอกาสในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่มีทั้งหมด  

ในการจัดสรรการเงินการลงทุน ทรัพยากรที่มีจำกัดและมีความไม่แน่ไม่นอน ไม่ใช่ “ที่ดินและน้ำ” แต่คือ “เงิน” เราจึงควรจัดสรรเงินทั้งที่เรามีอยู่และที่เราคาดการณ์ว่าจะได้รับเข้ามาไปในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่การจัดสรรรายได้ และบริหารสินทรัพย์ทางการเงินด้วยการจัดสรรเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนประเภทต่างๆ อย่างเป็นขั้นๆ ตั้งแต่ขั้นของการ “พออยู่พอกิน” และพึ่งพาตนเอง ไปจนถึงขั้น “พอมีอันจะกิน”และ “ไม่ต้องพึ่งพาแหล่งรายได้เดียว” เช่นเดียวกับแนวคิดของ “ทฤษฎีใหม่”
 

“การจัดสรรสินทรัพย์การเงินขั้นพื้นฐาน”

จะเริ่มตั้งแต่การจัดสรรเงินรายได้ออกมาเป็นส่วนๆ คือ ส่วนของเงินออม ส่วนของเงินค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ และสภาพคล่อง รวมไปถึงการบริหารหนี้สินต่างๆ เช่น
  • เงินออม เพื่อนำไปลงทุน
  • เงินรายจ่ายประจำวัน สำหรับการดำรงชีวิตทั่วไป
  • เงินสำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะต่างๆ สำหรับเป็น ค่ารักษาพยาบาล ค่าการศึกษาพัฒนาตน และอื่นๆ
  • เงินใช้จ่ายเพื่อความสุข เพื่อเป็นรางวัลชีวิต หรือ เพื่อการสันทนาการ
​“ช่วงเริ่มออมเปรียบเหมือนช่วงที่เริ่มขุดสระที่ต้องอดทนรอให้ฝนที่ตกช่วยเติมน้ำเข้าไปในสระจนพอใช้ ต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน และมีวินัยทางการเงิน รายได้ เงินสำรองฉุกเฉินและเงินที่ออมไว้เปรียบเหมือนน้ำในสระที่เก็บสำรองเพื่อให้พอใช้ตลอดปีในฤดูฝนน้ำฝนที่ไหลลงสระก็คือเงินออมประจำที่ออมจากรายได้ของเราที่เติมเข้าในงบดุลของเรา เมื่อมีน้ำในสระจนเพียงพอ ก็นำไปสู่การมีรายได้จากการสร้างผลตอบแทนจากเงินออมที่เรานำไปลงทุนให้ออกดอกออกผล เหมือนกับการนำน้ำในสระไปใช้ในที่ดินเพื่อการเกษตรที่เราจัดสรรเอาไว้ในช่วงวิกฤติต่างๆ เงินสำรองฉุกเฉินก็จะช่วยให้เราสามารถผ่านพ้นวิกฤติไปได้ เช่นเดียวกับน้ำในสระที่เอาไว้ใช้ในฤดูแล้งนั่นเอง”

เงินในส่วนของ “สินทรัพย์ลงทุน” ที่เราแยกตามเป้าหมายด้านต่างๆ และจัดสรรพอร์ตการลงทุนตามสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เพื่อให้เงินเหล่านี้งอกเงยเพิ่มพูนตามเป้าหมายที่เราวางไว้ และยังช่วยให้เรามีเงินเพิ่มนอกจากรายได้ประจำด้วย เช่นเดียวกับที่ดินของเกษตรกรที่แบ่งออกมาเป็นพื้นที่ปลูกข้าวและพืชผักผลไม้ เพื่อให้เราก้าวผ่านขั้นของการ “พออยู่พอกิน” ไปถึงขั้น “พอมีอันจะกิน” และจนถึงขั้นของ “การสร้างรายได้จากสินทรัพย์การเงิน” ที่เพียงพอต่อ “อิสรภาพทางการเงิน” ของเรา

“ส่วนของสินทรัพย์ส่วนตัวนั้นจะเห็นได้ว่ามีการจัดสรรตามความจำเป็นเหมาะสมไม่มากไม่น้อยจนเกินไปเพื่อนำไปใช้เป็นสินทรัพย์ลงทุนที่สร้างความมั่งคั่งให้กับเราในระยะยาว”

หลายปีที่ผ่านมาคนไทยต้องประสบทั้งปัญหาภัยแล้ง ภัยจากโรคระบาด รวมถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นรุนแรงอย่างไม่คาดฝัน ในสภาวะแบบนี้หากเราได้มีการจัดการที่ดินหรือสินทรัพย์ไว้บ้าง ก็น่าจะช่วยให้ผ่านพ้นปัญหาไปได้อย่างไม่ลำบากนัก
 
เขียนและเรียบเรียง : นรินทร์ เอกวงศ์วิริยะ นักวางแผนการเงิน CFP สมาคมนักวางแผนการเงินไทย 

We use cookies on our website to give the best experience including to purpose information and other contents. Using our website means you accept Terms and Conditions Privacy Notice and Cookies Policy.