รายได้ "กิจการ" และรายได้ "เจ้าของ" ควรแยกให้ชัดเจน

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่หันมาทำธุรกิจส่วนตัวกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค้าขาย บริการ หรือรับจ้าง เมื่อถึงเวลายื่นภาษีหลายคนยื่นภาษีเงินได้บุคคลและใช้วิธีการหักค่าลดหย่อนแบบเหมาตามประเภทของธุรกิจ ขณะที่บางกิจการยื่นภาษีนิติบุคคลและจัดทำบัญชีเพื่อใช้ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ก็ไม่ได้แยกระหว่างเงินได้นิติบุคคลและเงินได้บุคคลออกจากกัน
 
เจ้าของกิจการเหล่านี้จะรู้ได้อย่างไรว่าธุรกิจที่กำลังทำอยู่มีกำไรหรือขาดทุน หากเกิดปัญหาสภาพคล่องหดหาย จะสามารถแยกปัญหาว่าเกิดจากธุรกิจหรือส่วนตัวได้หรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้นยังอาจทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงเกินโดยไม่รู้ตัว
 
ร้าน A และ ร้าน B มีรายรับที่เท่ากัน แต่มีค่าใช้จ่ายที่ต่างกัน ทำให้มีงบการเงินสิ้นปีต่างกัน ร้าน A ขาดทุน 1 แสน ขณะที่ร้าน B มีกำไร 1 แสน กำไรและขาดทุนที่เกิดขึ้นเกิดจากความแตกต่างของค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเจ้าของที่ไม่ได้แยกออกมา ร้าน A มีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจรวม 6 แสนบาท และมีค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลอีก 5 แสนบาท ขณะที่ร้าน B มีค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ 6 แสนบาทเท่ากัน แต่มีค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล 3 แสนบาท ร้าน A จะรู้หรือไม่ว่าสาเหตุของการขาดทุนมาจากค่าใช้จ่ายส่วนตัวหรือไม่เมื่อไม่ได้แยกรายรับรายจ่ายออกจากกัน

เราสามารถพบเจอเจ้าของร้าน A และร้าน B ได้ทั่วไป โดยทั้งสองคนอาจไม่รู้ว่าตัวเองใช้จ่ายส่วนตัวไปเท่าไหร่เพราะธุรกิจยังมีกระแสเงินสดหมุนเวียนตลอดเวลา จนกระทั่งกิจการเกิดปัญหาสภาพคล่องหรือการขาดทุน วิธีการที่ดีและง่ายคือการกำหนดรายได้ของเราให้ชัดเจนและบริหารจัดการเงินแต่ละก้อนตามวัตถุประสงค์ที่ถูกต้อง แหล่งรายได้ที่มีความชัดเจน เมื่อเกิดปัญหาเราจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดและเราก็จะรู้ว่าเราใช้จ่ายได้มากน้อยแค่ไหน
 

รายได้และรายจ่ายที่ชัดเจนกับการวางแผนการเงิน

คุณหญิงไม่ได้แบ่งรายได้ของตัวเองออกจากธุรกิจ และรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นค่าใช้จ่ายของธุรกิจด้วยเพราะเข้าใจว่าเป็นธุรกิจของตัวเอง เมื่อครบปีมีรายได้รวม 1 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย 8 แสนบาท (รวมค่าใช้จ่ายของคุณหญิงจำนวน 3 แสนบาท) งบการเงินของธุรกิจมีกำไร 2 แสนบาท คำถาม : คุณหญิงมีรายได้เท่าไหร่?
 
เมื่อต้องวางแผนการเงินสำหรับเป้าหมายในอนาคต บ่อยครั้งที่เจ้าของธุรกิจเหล่านี้เกิดความสับสนระหว่างรายได้ของธุรกิจ กับรายได้ของเจ้าของ หลายคนนำรายได้ของธุรกิจมาใช้เป็นรายได้ของตัวเองด้วยความเข้าใจผิด

รายได้ของธุรกิจคือรายรับที่ธุรกิจได้รับจากการดำเนินงาน ธุรกิจมีรายได้มาก ไม่ได้หมายความว่าเป็นธุรกิจที่ดีถ้าหากมีรายรับน้อยกว่ารายจ่าย สิ่งที่ทำให้ธุรกิจดำเนินกิจการต่อไปได้ก็คือ กำไรและสภาพคล่องของธุรกิจ กิจการลักษณะนี้เมื่อเกิดผลกระทบขึ้นมาก็เท่ากับเกิดกระทบกับคุณหญิงโดยตรง เพราะสภาพคล่องที่ผูกติดกันระหว่างคุณหญิงและธุรกิจ ทำให้ไม่มีแหล่งรายได้สำรอง และไม่มีสภาพคล่องส่วนบุคคล แล้วถ้าแยกรายได้บุคคล ออกจาก รายได้ธุรกิจล่ะ?
 
​​สมมติว่าคุณหญิงทำการแยกการเงินธุรกิจและส่วนตัวด้วยการรับเงินเดือนปีละ 3 แสนบาท เมื่อถึงสิ้นปีธุรกิจมีกำไร 2 แสนบาท แบ่งเงินปันผลออกจากกิจการ 1 แสนบาท กำไรที่เหลือหลังจากแบ่งเงินปันผล 1 แสนใช้เป็นเงินทุนของกิจการ
 
เมื่อแยกเงินออกจากกันทำให้เห็นได้ว่าธุรกิจของคุณหญิงมีรายได้ 1 ล้านบาท มีกำไร 2 แสนบาท เท่ากับมีกำไรต่อรายได้ 20% ขณะที่ คุณหญิงมีรายได้จากเงินเดือน 3 แสนบาท และเงินปันผลอีก 1 แสนบาท รวมเป็นรายได้ 4 แสนบาท ทำให้คุณหญิงสามารถบริหารค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับรายรับของตัวเอง ทั้งยังนำเงินออมไปลงทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมหรือเพื่อเป้าหมายการเงินต่างๆ
 
การแยกกระเป๋าเงินส่วนตัวออกจากกระเป๋าเงินของกิจการ เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสุขภาพทางการเงินสำหรับผู้ที่มีรายได้จากธุรกิจส่วนตัว แค่เพียงแบ่งเงินตามวัตถุประสงค์หรือหน้าที่ของเงินแต่ละส่วน เช่น เงินค่าจ้างหรือเงินเดือนให้ตัวเราเอง เงินหมุนเวียนของธุรกิจ เงินลงทุนเพื่อขยายกิจการ หรือเงินลงทุนส่วนตัวเพื่อสร้าง passive income และยังทำให้มีความชัดเจนในการบริหารและทำบัญชีธุรกิจของนิติบุคคล
 
ในทางบัญชีนั้นเงินที่ถูกไปใช้โดยที่ไม่มีหลักฐานสามารถทำให้เกิดบัญชีลูกหนี้กรรมการ และเจ้าของธุรกิจมีหน้าที่นำเงินมาคืนบริษัทอีกด้วย และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือช่วยไม่ให้เกิดปัญหาสภาพคล่องหรือขาดเงินสดในการบริหารธุรกิจในวันข้างหน้าอีกด้วย
 
เขียนและเรียบเรียง : นรินทร์ เอกวงศ์วิริยะ นักวางแผนการเงิน CFP สมาคมนักวางแผนการเงินไทย 

We use cookies on our website to give the best experience including to purpose information and other contents. Using our website means you accept Terms and Conditions Privacy Notice and Cookies Policy.