รู้จักเรา

การกำกับดูแลกิจการที่ดี

​​

นโยบายต่อต้านการทุจริต
​(Anti-Fraud Policy)

บทนำ

     บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) มุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความความซื่อสัตย์และยุติธรรม และให้ความสำคัญกับการป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงาน คณะกรรมการบริษัทกำหนดนโยบายต่อต้านการทุจริต (“นโยบาย”) ฉบับนี้ขึ้น เพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตามข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแล

วัตถุประสงค์

     นโยบายฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้บริษัทมีกรอบแนวทางในการกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริต การตรวจพบ และการจัดการ ตลอดจนการพัฒนามาตรการป้องกันการทุจริตอย่างต่อเนื่อง รวมถึง การกำหนดมาตรการในการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ทุจริต การรายงาน ที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลตามกฎหมาย และนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ขอบเขต

     นโยบายฉบับนี้ครอบคลุมการป้องกันการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ผู้กระทำการแทนบริษัท คนกลางประกันภัย การใช้บริการบุคคลภายนอก ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ คู่ค้า และผู้กระทำการแทนบุคคลเหล่านั้น ทั้งนี้ บริษัทจัดให้มีมาตรการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตที่ครอบคลุมการดำเนินงานทั่วทั้งองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาและกำหนดมาตรการป้องกันได้อย่างเหมาะสม บุคลากรของบริษัทต้องศึกษาทำความเข้าใจนโยบายฉบับนี้และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ผู้ที่ฝ่าฝืนอาจได้รับโทษตามระเบียบของบริษัท และอาจต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือการสิ้นสุดความสัมพันธ์ทางธุรกิจ

คำนิยาม

     “การทุจริต” หมายถึง การกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยเจตนา รวมถึงการหลอกลวงหรือบิดเบือนความจริง ทั้งจากบุคคลภายนอกและ/หรือภายในบริษัท เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการทุจริตจะเป็นบุคคลที่กระทำการเองหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง

บริษัทจัดประเภทการทุจริตเป็น 3 กลุ่มตามประเภทผู้เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • การทุจริตโดยบุคคลภายในบริษัท ได้แก่ การทุจริตต่อทรัพย์สินของบริษัท หรือการทุจริตต่อหน้าที่ โดยบุคลากรของบริษัท ไม่ว่าจะกระทำโดยลำพังหรือร่วมกับบุคคลอื่น ทั้งจากภายในและภายนอกบริษัท เช่น การยักยอก การปลอมแปลงเอกสาร การปกปิด การบิดเบือนข้อมูลที่สำคัญในรายงานทางการเงิน เป็นต้น
  • การทุจริตโดยคนกลาง เช่น ตัวแทน นายหน้า พันธมิตรธุรกิจ ผู้ให้บริการภายนอกในด้านต่าง ๆ เช่น การดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (Third Party Administrator: TPA) ทำการทุจริตต่อบริษัทและ/หรือผู้ถือกรมธรรม์ เช่น การยักยอกเบี้ยประกันภัย การปลอมแปลงเอกสาร เป็นต้น
  • การทุจริตโดยบุคคลภายนอกบริษัท เช่น คู่ค้า ลูกค้า หรือผู้ถือกรมธรรม์ ทำการทุจริตต่อบริษัท เช่น การทุจริตในการสมัครทำประกันภัย หรือการเรียกร้องสินไหมทดแทน เป็นต้น

นโยบายในการต่อต้านการทุจริต

     การไม่อดทนต่อการทุจริต (Zero Tolerance)

     บริษัทใช้แนวทาง “การไม่อดทนต่อการทุจริต” และไม่ยอมรับการกระทำที่ไม่สุจริต ซึ่งมีผลกระทบต่อบริษัทและผู้มีส่วนได้เสีย ที่กระทำโดยบุคคลใด ๆ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายแก่ตนเองหรือบุคคลอื่น

     บุคลากรของบริษัทต้องปฏิบัติตามนโยบายฉบับนี้อย่างเคร่งครัด และไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตในทุกกรณี บริษัทสนับสนุนให้บุคคลภายนอกที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทปฏิบัติตามนโยบายนี้ด้วย

     การบริหารความเสี่ยงและการจัดการกรณีทุจริต

     บริษัทต้องจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตครอบคลุมกิจกรรมทั่วทั้งองค์กร มีมาตรการดำเนินการเพื่อจัดการและรับมือต่อเหตุการณ์การทุจริตที่เกิดหรืออาจเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม และเพียงพอที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องทั้งหลายจะถูกตรวจสอบ เพื่อทราบถึงปัจจัยที่เป็นต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริง และนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการดำเนินงาน หรือการกำหนดมาตรการป้องกันการเกิดการทุจริตในอนาคตอย่างถูกต้องเหมาะสม รวมถึงการดำเนินการทางวินัย หรือการดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ที่กระทำความผิดอย่างจริงจัง

     การรายงานการทุจริต

     บุคลากรของบริษัทต้องทำความเข้าใจลักษณะและประเภทของรายการที่อาจก่อให้เกิดการทุจริต โดยเฉพาะการทุจริตที่เกี่ยวข้องในขอบเขตความรับผิดชอบของตน และหมั่นสังเกต ศึกษา และตรวจทาน ข้อบ่งชี้ที่ผิดปกติ นอกจากนี้ บุคลากรของบริษัทยังมีหน้าที่สื่อสาร ป้องกัน และดูแลไม่ให้เกิดการทุจริต ทั้งการทุจริตที่เกิดภายในบริษัท และการทุจริตที่เกิดจากบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัท รวมถึงต้อง ไม่ละเลยหรือเพิกเฉยต่อการทุจริตทุกรูปแบบ โดยหากพบเห็นการทุจริตหรือเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิด การทุจริต ต้องรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาหรือช่องทางการแจ้งเบาะแสที่บริษัทกำหนดไว้โดยไม่ชักช้า รวมถึงให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง

     การกำกับดูแล

     กรอบการดำเนินการป้องกันการทุจริตของบริษัทครอบคลุมการประเมินความเสี่ยง การป้องกันการจัดการ และการรายงาน บริษัทรายงานผลการประเมินความเสี่ยงการทุจริตและสถิติกรณีทุจริตต่อคณะกรรมการบริษัท

     การกำหนดแนวปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต

     เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันการทุจริต บริษัทกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อการต่อต้านการทุจริตภายใต้นโยบายฉบับนี้ โดยจัดให้มีการทบทวนแนวปฏิบัติดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ

     การทบทวนนโยบาย

     บริษัททบทวนนโยบายอย่างสม่ำเสมอหรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่มีสาระสำคัญ



ทบทวนล่าสุดตามมติคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566

×

ฝากข้อความไว้ให้เราติดต่อกลับ