รู้จักเรา

การกำกับดูแลกิจการที่ดี

​​

ปัจจัยความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจและกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัท

1. ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจ

     เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ต้องเผชิญกับอุปสรรคที่ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจต่ำกว่าที่คาดการณ์ ส่วนหนึ่งมาจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้การลงทุนในภาคเอกชน และการลงทุนจากต่างประเทศชะลอตัว ทั้งนี้ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย – ยูเครน และระหว่างอิสราเอล – ฮามาส ส่งผลกระทบต่อการนำเข้า – ส่งออก และราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งกดดันต่อต้นทุนการผลิต และอัตราเงินเฟ้อโดยตรง ทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ใช้มาตรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับสูง และส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชนภายในประเทศลดลง เนื่องจากจากหนี้ภาคครัวเรือน และหนี้นอกระบบค่อนข้างสูง

2. ความเสี่ยงด้านการแข่งขัน

     ธุรกิจประกันชีวิตมีการปรับตัวจากเดิมค่อนข้างมากหลังจากที่ได้ผ่านความท้าทายจากวิกฤติโควิด-19 ทั้งในเรื่องของการดำเนินงาน การนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการลูกค้าผ่านการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ลดขั้นตอนและเพิ่มความรวดเร็วในการบริการเพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และการเข้าสู่เศรษฐกิจของโลกดิจิทัล จากปัจจัยดังกล่าวบริษัทตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลง และให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดทำแผนธุรกิจที่กำหนดทิศทางให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนองค์กร เพื่อพัฒนาการติดต่อสื่อสารและการให้บริการลูกค้าและผู้ขายให้มีความสะดวก ส่งเสริมการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนบริษัทสู่การดำเนินการแบบไร้กระดาษและไร้เงินสด ภายใต้ความมั่นคงปลอดภัยของระบบที่นำมาใช้ รวมถึงการกำหนดมาตรการและแผนบริหารความเสี่ยงรองรับสำหรับเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจได้ รวมทั้งการพัฒนาระบบการให้บริการอย่างรอบด้าน การบริหารช่องทางการขาย และการพัฒนารูปแบบกรมธรรม์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของบริษัท โดยอีกหนึ่งความเสี่ยงที่บริษัทให้ความสำคัญ คือ ความเสี่ยงจากช่องทางการขายด้านคู่ค้า เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้

     เนื่องจากธุรกิจประกันชีวิตเป็นธุรกิจที่ผู้ทำหน้าที่คนกลางประกันภัยหรือผู้ขายจะต้องมีใบอนุญาตในการขาย ส่งผลให้การเข้าสู่การเป็นคนกลางประกันภัยในฐานะนายหน้าประกันชีวิตมีจำนวนน้อยราย หรือ ในรายที่อยู่ในธุรกิจมานานอาจเพิ่มจำนวนบริษัทประกันชีวิต เกิดภาวะการแข่งขันสูงส่งผลให้คู่ค้ารายใหญ่ที่มีจำนวนลูกค้าในครอบครองจำนวนมากได้รับข้อเสนอที่ดีกว่า ขณะเดียวกันคู่ค้ารายเล็กก็เป็นที่น่าสนใจในการขยายฐานลูกค้าในช่องทางใหม่ ๆ เช่นกัน ทั้งนี้บริษัทให้ความสำคัญกับการรักษาคู่ค้ารายใหญ่ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีมายาวนานในการรักษาฐานลูกค้า เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากการพึ่งพาคู่ค้ารายใดรายหนึ่งมากเกิน บริษัทได้พัฒนาและขยายฐานลูกค้าผ่านการขายแบบออนไลน์และผ่านช่องทางการขายของคู่ค้ารายใหม่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านคุณภาพการขาย อาทิ การยืนยันการทำประกันกับลูกค้า การควบคุมดูแลจำนวนลูกค้าร้องเรียนอย่างสม่ำเสมอ

     นอกเหนือจากการคัดเลือกคู่ค้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแล้ว บริษัทยังพิจารณานโยบาย และ/หรือ แนวทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้านสิทธิมนุษยชน และจรรยาบรรณ ในการดำเนินธุรกิจของคู่ค้าอีกด้วย อีกทั้งมีการประเมินผ่านแบบพิจารณาและทบทวนคุณสมบัติผู้ให้บริการภายนอก และแบบประเมินความพึงพอใจของผู้ให้บริการภายนอก โดยปัจจุบันการประเมินความเสี่ยงคู่ค้าด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ของบริษัทจะพิจารณาในภาพรวมทั้งด้านชื่อเสียงภาพลักษณ์องค์กร ผลประกอบการ และการปฏิบัติตามกฎหมายเป็นเกณฑ์ เพื่อเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ ซึ่งหน่วยงานหรือผู้ดูแลโครงการที่เกี่ยวข้องกับคู่ค้าจะต้องทำการประเมินและทบทวนความเสี่ยงหรือปัญหาที่เกิดขึ้นของคู่ค้าในประเด็นดังกล่าวก่อนตัดสินใจ

3. ความเสี่ยงการประกันภัย

     ความเสี่ยงด้านการประกันภัย มีปัจจัยเสี่ยงในหลายด้านที่เกี่ยวข้องและอาจส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงด้านการประกันภัยของบริษัท ได้แก่

     3.1 ความเสี่ยงด้านการประกันภัย

     เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากอัตราการตาย อัตราการเจ็บป่วย อัตราการขาดอายุ การเวนคืนกรมธรรม์ หรือความเสี่ยงที่เหตุการณ์ของผู้เอาประกันภัยอาจเบี่ยงเบนไปจากข้อสมมติฐานที่ใช้ในการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย การพิจารณารับประกันภัย รวมถึงการคำนวณเงินสำรองประกันภัย โดยอาจจะทำให้เกิดผลกระทบทางลบกับผลการดำเนินงานของบริษัท รวมไปถึงปัญหาการฉ้อฉลในธุรกิจประกันภัยก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจประกันภัย โดยส่งผลต่อต้นทุนในการประกอบธุรกิจที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น และยังส่งผลต่อผู้ทำประกันภัยที่ต้องการใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สิน เช่น การเรียกร้องให้ชดใช้เงินตามสัญญาประกัน โดยผู้เอาประกันภัย หรือบุคคลใด ๆ ร่วมกับบุคลากรทางแพทย์ หรือสถานพยาบาล ให้ผู้เอาประกันภัยนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเกินความจำเป็นตามมาตรฐานทางการแพทย์ เพื่อแสวงหาประโยชน์จากการเรียกร้องให้ชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตดังกล่าว บริษัทจึงดำเนินการให้มีการบริหารความเสี่ยงด้านการประกันภัยอย่างเหมาะสม ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยมีคณะทำงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างแนวคิด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย กำหนดอัตราเบี้ยประกันที่เหมาะสมและสอดคล้องกับกลยุทธ์ในการดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบายบริหารความเสี่ยงของบริษัท เสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรในองค์กรให้สามารถประเมินมูลค่าความเสียหาย ค่าสินไหมทดแทนที่เหมาะสมกับวินาศภัยที่เกิดขึ้น รวมถึงการตั้งเงินสำรองประกันภัยและเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เพียงพอและสูงกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอีกด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทสามารถรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ อีกทั้งยังมีการทบทวนการกำหนดราคาของผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับต้นทุนของบริษัทในปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ยังเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงและการติดตามด้วยระบบสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System) การวิเคราะห์ความอ่อนไหว (Sensitivity Test) และการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ของปัจจัยเสี่ยงหลัก

     3.2 ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง

     ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง คือ ความเสี่ยงอันสืบเนื่องมาจากการที่บริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามภาระผูกพันทางการเงินได้เมื่อครบกำหนด นั่นคือบริษัทไม่สามารถเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นเงินสดและ/หรือไม่สามารถจัดหาเงินทุนได้เพียงพอตามความต้องการและทันต่อเวลาที่จะต้องนำไปชำระตามภาระผูกพันได้เมื่อครบกำหนด รวมถึงการดำเนินกิจกรรมทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ ทั้งนี้บริษัทมีการควบคุมความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องโดยการรักษาระดับของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดให้เพียงพอต่อการดำเนินงานของบริษัท และได้จัดทำแผนกระแสเงินสด Cash Flow Management และแผนบริหารเงินทุน รวมถึงมีการวิเคราะห์อัตราส่วนสภาพคล่อง (Liquidity Ratio) ในการควบคุมความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทสามารถปฏิบัติตามภาระภูกพันธ์ทางการเงินและ/หรือมีการบริหารสภาพคล่องอย่างมีประสิทธิภาพ

     3.3 ความเสี่ยงด้านการพิจารณารับประกันภัย

     ความเสี่ยงด้านการพิจารณารับประกันภัย เป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการประเมินความเสี่ยงไม่เหมาะสมในการพิจารณารับประกันหรือมูลค่าของการเรียกร้องสินไหมทดแทนเกินว่าระดับสมมติฐานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ บริษัทมีการบริหารความเสี่ยงโดยกำหนดแนวทางในการพิจารณารับประกันภัยทั้งที่เกี่ยวกับสุขภาพและปัจจัยเสี่ยงที่ไม่เกี่ยวกับสุขภาพที่เป็นมาตรฐานตามแบบประกันภัย ได้แก่ อายุ ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นในส่วนของอายุเฉลี่ยของประชากรที่ยืนยาวขึ้น การพิจารณาตามเพศ อาชีพ รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตในวงกว้าง การพัฒนาทางการแพทย์และสภาพทางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นปัจจัยประกอบการพิจารณารับประกันภัย และการพิจารณาส่งประกันภัยต่อไปยังผู้รับประกันภัยต่อที่มีความมั่นคงทางการเงินและมีความน่าเชื่อถือ เพื่อลดความเสี่ยงจากการรับภาระการจ่ายค่าสินไหมที่ไม่คาดคิดและมีมูลค่าสูง และเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการรับประกันภัยของบริษัท

4. ความเสี่ยงทางการเงิน

     4.1 ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยผันผวน

     ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยผันผวน หมายถึง ความเสียหายต่อรายได้ หรือมูลค่าส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท จากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย โดยบริษัทมีความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยที่สำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับเงินฝากสถาบันการเงิน เงินลงทุนในหลักทรัพย์ และเงินกู้ ทั้งนี้บริษัทมีการบริหารความเสี่ยงโดยคำนึงถึงความเสี่ยงจากการลงทุนควบคู่กับความเหมาะสมของผลตอบแทนจากการลงทุน พร้อมวิเคราะห์ความแตกต่างตามระยะเวลาครบกำหนด หรือระยะเวลากำหนดอัตราดอกเบี้ยใหม่ในแต่ละช่วง (Gap Analysis) และมีการประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยของสินทรัพย์ และหนี้สินทางการเงินของบริษัท

     4.2 ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตลาด

     ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตลาด หมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงราคาของอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ราคาตราสารทุน และสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่กระทบต่อรายได้จากการลงทุน และเงินกองทุนของบริษัท โดยบริษัทได้บริหารจัดการให้มูลค่าความเสี่ยงนั้นอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และไม่เกินเงินกองทุนที่ได้จัดสรรไว้ตามแผนธุรกิจ ทั้งนี้บริษัทมีความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และเมื่อรวมกับความเสี่ยงประเภทอื่นแล้ว บริษัทยังมีฐานะเงินกองทุนที่เข้มแข็ง และสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด

     4.3 ความเสี่ยงจากความผันผวนของของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

     ความเสี่ยงจากความผันผวนของของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หมายถึง ความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ นโยบายการเงิน และการคลัง เสถียรภาพทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศ การเก็งกำไรค่าเงิน เป็นต้น ทั้งนี้บริษัทได้มีแนวทางบริหารความเสี่ยง โดยการพิจารณาลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ ณ ขณะนั้น

โดยปัจจุบันการประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืนของผู้ออกหลักทรัพย์ ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล บริษัทไม่ได้มีการประเมินเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้บริษัทพิจารณาในภาพรวมทั้งด้านชื่อเสียงภาพลักษณ์องค์กร ผลประกอบการ และการปฏิบัติตามกฎหมายเป็นเกณฑ์ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการการลงทุน

     4.4 ความเสี่ยงต่อการลงทุนของผู้ถือหลักทรัพย์

     ความเสี่ยงต่อการลงทุนของผู้ถือหลักทรัพย์ เป็นความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ หรือสูญเสียเงินลงทุนจากการถือครองหลักทรัพย์ หรือหุ้นของบริษัท ได้แก่

- ราคาหุ้นของบริษัทที่อาจจะเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างผันผวน ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยโดยบางปัจจัยบริษัทไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ภาวะเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงกฎข้อบังคับ หรือเงื่อนไขต่าง ๆ ของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจ การเกิดภาวะวิกฤต การเกิดขึ้นของโรคอุบัติใหม่ วิกฤตทางการเงิน สภาพคล่อง ราคา และปริมาณการซื้อขายหุ้น โดยปัจจัยดังกล่าวอาจทำให้ราคาหุ้นลดลงต่ำกว่าราคาที่ผู้ลงทุนซื้อ และ/หรือ สูงกว่าราคาหุ้นที่ผู้ลงทุนขาย ทำให้ผู้ลงทุนอาจจะมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ถือหุ้น บริษัทได้ให้ข้อมูลผลประกอบการ สาระสำคัญ และลักษณะที่เป็นลักษณะเฉพาะของการประกอบธุรกิจประกันชีวิตแก่ผู้ลงทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

- ความเสี่ยงจากการจ่ายเงินปันผลไม่เป็นไปตามที่ผู้ลงทุนคาดหวัง มาจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผลประกอบการทางการเงินในอนาคตของบริษัท ซึ่งขึ้นอยู่กับความสำเสร็จในการนำกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัทมาปรับใช้ และปัจจัยทางการเงิน การแข่งขัน หลักเกณฑ์ และนโยบายของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจ สภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไป อุปสงค์ของลูกค้า และปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งหลายปัจจัยอยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัท และหากปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจ่ายเงินปันผลประจำปี และ/หรือ เงินปันผลระหว่างกาล บริษัทอาจจะมีความเสี่ยงในการดำรงเงินกองทุนหากจ่ายเงินปันผลในอัตราปกติ เป็นเหตุให้บริษัทอาจไม่ได้รับการอนุมัติให้จ่ายเงินปันผล หรือ จ่ายเงินปันผลได้ในอัตราที่ต่ำกว่านโยบายที่บริษัทกำหนดที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ

     ทั้งนี้ บริษัทมีการบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุนของผู้ถือหลักทรัพย์ของบริษัท โดยมีการดำเนินธุรกิจ และการกำหนดนโยบายครอบคลุมการบริหารความเสี่ยงด้านการเงิน และด้านอื่น ๆ ได้แก่ ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง และภาพลักษณ์ ความเสี่ยงด้านความยั่งยืน และความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการติดตาม สภาวะเศรษฐกิจ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ นโยบายของหน่วยงานกำกับ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทอย่างใกล้ชิด เพื่อให้บริษัทสามารถเตรียมการปรับตัว และ /หรือเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริษัทจะมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง และมั่นคง และสามารถทำให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทน / ระดับเงินปันผลที่ดี และสม่ำเสมอ

5. ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์

     ปัจจุบัน บริษัทมีการปรับรูปแบบการให้บริการเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ผ่านการนำเทคโนโลยีและระบบสารสนเทศใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ในการทำงานมากขึ้น ทั้งในการให้บริการคำปรึกษา การบริการกรมธรรม์แก่ลูกค้า ตัวแทน/นายหน้า คู่ค้า และโรงพยาบาลคู่สัญญา รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชั่น ซึ่งการนำเทคโนโลยีและระบบสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการทำงานต่าง ๆ ที่มากขึ้นนี้ อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มขึ้น ทั้งที่เกิดจากความบกพร่องของระบบที่อาจเปิดโอกาสให้ผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลสำคัญของบริษัท ภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่างๆ เช่น การปลอมหน้าเว็บไซต์ (Phishing) การติดตั้งโปรแกรมประสงค์ร้าย (Malware/Virus) เป็นต้น ที่อาจทำให้เกิดการหยุดชะงักทางธุรกิจ เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทสามารถรักษาความปลอดภัยของระบบสารสนเทศและป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้ บริษัทจึงมุ่งเน้นการจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบการบริหารความเสี่ยงขององค์กร รวมถึงกรอบการปฏิบัติงานการบริหารความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและกรอบปฏิบัติงานความมั่นคงปลอดภัยด้านเทคโนโลยี ให้สอดคล้องและเพียงพอต่อสถานการณ์ความเสี่ยงที่มีความซับซ้อนและมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ISO 27001:2013 เรื่อง การจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ และ ISO 27701:2019 เรื่อง การจัดการด้านความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

6. ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎหมายและการกำกับดูแลธุรกิจ

     เนื่องจากบริษัทประกอบกิจการภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย กฎเกณฑ์ในบางกรณีของหน่วยงานภาครัฐ อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท ทั้งด้านการแข่งขัน ต้นทุนทางการเงินและผลการดำเนินงาน และ/หรือ การไม่ปฏิบัติตาม การฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ หรือการประมาทเลินเล่อ อาจทำให้บริษัทถูกภาคทัณฑ์ ถูกปรับ หรือ ถูกฟ้องร้องได้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น บริษัทได้กำหนดโครงสร้างการบริหารงาน โดยนำหลักการแนวปราการป้องกัน 3 ชั้น มาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ควบคุมดูแลและติดตามให้หน่วยงานปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎข้อบังคับของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจรวมถึงนโยบายและระเบียบต่าง ๆ ของบริษัท ตลอดจนติดตามการเปลี่ยนแปลงกฎหมายพร้อมทั้งสื่อสารให้หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและถือปฏิบัติโดยทั่วกัน

7. ความเสี่ยงด้านความยั่งยืน

     ปัจจุบันแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Environmental, Social, Governance: ESG) ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ธุรกิจต่างให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบของบริษัทที่มิใช่เพียงแค่ดำเนินธุรกิจเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่เป็นกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม(Environmental) สังคม(Social) สิทธิมนุษยชน (Human Rights) และบรรษัทภิบาล(Governance) บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ESG โดยกำหนดเป็นประเภทความเสี่ยงหนึ่งในการประเมินความเสี่ยงขององค์กร (Corporate Risk Assessment) ครอบคลุมกิจกรรมสำคัญของบริษัท สอดคล้องตามนโยบายและกรอบการบริหารความเสี่ยงของบริษัทเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและปรับตัวเพื่อรองรับความเสี่ยงต่าง ๆ รวมถึงแสวงหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจจากความเสี่ยงเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ

     7.1 ความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

     ความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม คือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต สุขอนามัยโดยรวมของประเทศและพนักงาน พฤติกรรมและวิถีการดำรงชีวิต ความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ และ/หรือต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยความเสียหายต่าง ๆ รวมถึงความเสียหายที่เกิดต่อราคาหลักทรัพย์ที่บริษัทลงทุนจากภาวะการขาดทุนหรือลดลงของราคาหลักทรพย์ บริษัทมีการดำเนินการประเมินความเสี่ยงในมุมมองของโอกาสและผลกระทบที่กิจรรมต่าง ๆ ของบริษัทต้องหยุดชะงักเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น อัคคีภัย อุทกภัย การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างฉับพลัน โดยจัดทำแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจที่แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการรับมือ ปรับตัว และเพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริษัทสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการกำหนดนโยบายต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎระเบียบและข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานภาครัฐ และ/หรือ ตามมาตรฐานสากล

     7.2 ความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน

     ความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน เป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการละเมิดสิทธิการได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมตามหลักสิทธิมนุษยชนสำหรับพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเรื่องความปลอดภัยในสถานที่ทำงานและสภาพแวดล้อมที่ดี ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ และภาพลักษณ์ขององค์กร โดยจัดให้มีการดําเนินการตามแนวทางการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านซึ่งประกอบด้วยการประกาศนโยบายว่าด้วยสิทธิมนุษยชน การประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน การกําหนดแนวทางป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน การติดตามและรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน ขอบเขตของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนตามทะเบียนความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการรายงานข้อมูลความเสียหายและข้อมูลเกือบเสียหาย (Loss Data & Near-Misses) ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Risk) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารความเสี่ยงของบริษัท รวมถึงช่องทางการแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน (Whistle Blowing) ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยประเด็นความเสี่ยงสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนที่บริษัทต้องเผชิญในปีที่ผ่านมา เช่น การรั่วไหลของข้อมูลและใช้ข้อมูลการลูกค้าไม่เหมาะสม ความเสี่ยงจากการปฏิบัติตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน เป็นต้น

8. ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging risk)

     ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ คือความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดความสูญเสียที่ไม่เคยปรากฎขึ้นหรือไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และเป็นความเสี่ยงที่ยากต่อการประมาณการทั้งในเชิงโอกาศและความรุนแรงในการเกิด เนื่องจากความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยสภาพแวดล้อม อาทิ โรคระบาด กฎหมาย การเมือง สังคม เทคโนโลยี สภาพแวดล้อมทางกายภาพ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ บริษัทจึงต้องกำหนดกระบวนการให้พร้อมรับมือกับความเสี่ยงใหม่ที่เกิดขึ้น โดยมีการติดตามและทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยความเสี่ยงใหม่ที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัท วิเคราะห์ความเสี่ยงที่เกิดใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท ได้แก่

     8.1 ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk)

     ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk) เป็นปัจจัยความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยบริษัทคำนึงถึงความเสี่ยงทั้งจากผลกระทบทางกายภาพ นั่นคือเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลและสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านและกฎเกณฑ์อย่างสังคมเศรษฐกิจสีเขียว กฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศที่กำกับให้ภาคธุรกิจรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกภาษี นักลงทุนและสถาบันการเงินได้นำการบริหารจัดการความเสี่ยงและโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำาหรับการลงทุนในธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

     8.2 ความเสี่ยงด้านสังคม

     บริษัทให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ซึ่งอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างทางสังคม การผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองต่อผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าว โดยการเปลี่ยนแปลงนี้อาจส่งผลให้ธุรกิจได้รับผลกระทบทั้งในด้านการแข่งขัน ต้นทุนทางการเงินและผลการดำเนินงานหากธุรกิจไม่มีการเตรียมแผนรองรับไว้ ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวและแสวงหาโอกาส ในการทำธุรกิจจากความต้องการสินค้าและบริการของผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นและตลาดที่ขยายขนาดใหญ่ขึ้น

     การกลายพันธุ์ของโรคที่มีอยู่เดิมจากทั้งในสัตว์และในมนุษย์เปลี่ยนแปลงตามปัจจัยแวดล้อม และการแพร่ระบาดจากมนุษย์สุ่มนุษย์ พฤติกรรมทางสังคมในปัจจุบัน จะมีการปรับตัวสู่วิถีชีวิตในรูปแบบใหม่ (New normal) แต่พฤติกรรมพื้นฐานยังคงมีการติดต่อ พบปะ และทํากิจกรรมต่าง ๆ อยู่เสมอ ประกอบกับจํานวนประชากรที่มีความหนาแน่น จึงมีโอกาสที่จะส่งต่อการติดเชื้อไปยังบุคคลต่าง ๆ และพื้นที่ได้ง่าย และข้อจำกัดของวัคซีน เพื่อให้การป้องกันทําได้อย่างรวดเร็ว จึงมีการนําเอาวัคซีนที่เกิดขึ้นจากนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ ซึ่งยังคงเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องติดตามผลกระทบ รวมถึงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการกลายพันธุ์เร็วขึ้นในบางกรณี นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ประชากรบางส่วนที่ไม่ได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงทําให้ควบคุมการแพร่ระบาดได้ยาก

     8.3 ความเสี่ยงจากโรคอุบัติใหม่ (Emerging Infectious Disease Risk)

     ความเสี่ยงจากโรคอุบัติใหม่ (Emerging Infectious Disease Risk) เป็นโรคติดต่อชนิดใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและต้องใช้เวลาในการวิจัยโรคใหม่เพื่อศึกษาหาวิธีการรักษา เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดใหม่ (New infectious disease) โรคติดต่อที่พบในพื้นที่ใหม่ (New geographical areas) โรคติดต่ออุบัติซํ้า (Re-emerging infectious disease) เชื้อก่อโรคที่ดื้อต่อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial resistant organism) และเกิดจากการกระทำของมนุษย์ด้วยสารชีวะ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้โรคแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งที่ผ่านมาหลายประเทศให้ความสำคัญและเตรียมความพร้อมสำหรับการรับมือ

9. ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์

     ความเสี่ยงที่เกิดจากการกำหนดนโยบาย แผนกลยุทธ์ แผนการดำเนินงาน และการนำไปปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมหรือไม่สอดคล้องกับปัจจัยภายในและสภาพแวดล้อมและสิ่งแวดล้อมภายนอกซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เทคโนโลยี ความคาดหวังของสาธารณชน พฤติกรรมของลูกค้า และภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้บริษัทได้กำหนดมาตรการในการบริหารจัดการความเสี่ยงโดยการจัดทำแบบประเมินความเสี่ยงองค์กรทั้งทางการเงินและด้านปฏิบัติการพร้อมกับการจัดทำแผนธุรกิจ เพื่อให้หน่วยงานได้กลั่นกรองสภาพแวดล้อมและปัจจัยเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจอย่างรอบด้านทั้งระยะสั้น กลาง และระยะยาว ตลอดจนการทบทวนปัจจัยเสี่ยงและเป้าหมายขององค์กรอย่างสม่ำเสมอ

10. ความเสี่ยงด้านปฏิบัติงาน

     ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดหรือความไม่เพียงพอของกระบวนการทำงาน บุคลากร ระบบงาน การขาดการกำกับดูแลกิจการที่ดี การขาดการควบคุมที่ดี หรือจากปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ เงินกองทุนและชื่อเสียงภาพลักษณ์ บริษัทมีการบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างประสิทธิภาพของระบบการควบคุมภายใน โดยมีการจัดโครงสร้างองค์กรและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการควบคุมภายในที่เพียงพอ เช่น โครงสร้างการบริหารงาน การกระจายอำนาจ และการตรวจสอบ รวมถึงการกำหนดขั้นตอนกระบวนการทำงานที่เป็นมาตรฐานโดยคำนึงถึงปัจจัยในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน มีระบบงานต่าง ๆ รองรับขั้นตอนหรือกระบวนการทำงาน และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ บริษัทเน้นการมีส่วนร่วมจากพนักงานทุกระดับ โดยมีการจัดทำแบบประเมินความเสี่ยงองค์กร การรายงานเหตุการณ์ความเสียหายจากทุกหน่วยงาน เพื่อนำข้อมูลความเสียหายที่ได้มาวิเคราะห์ความเสี่ยงและจัดเตรียมมาตรการที่เหมาะสมสำหรับการรับมือความเสี่ยงเหล่านั้น รวมทั้งบริษัทมีการจัดทำแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจเพื่อให้มั่นใจได้ว่าองค์กรสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องหากเผชิญกับเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและจัดให้มีการซักซ้อม สื่อสารทำความเข้าใจแผนงานดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ

×

ฝากข้อความไว้ให้เราติดต่อกลับ